องคมนตรีติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร

448699332 869134688594470 92704312735767194 n

448721641 869135925261013 1246052534898704909 n

 

448588707 869134698594469 6206286599179397720 n

448751106 869135921927680 5508425131906941040 n

 

         วันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2567 เวลา 09.30 น. นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปติดตามและขับเคลื่อนในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง ตำบลหนองปลิง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร โดยมีนายวัชระ เสือดี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน (ด้านบำรุงรักษา) นายทวีวัฒน์ สืบสุขมั่นสกุล ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 4 ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการนี้ ผู้แทนกรมชลประทานได้บรรยายผลการดำเนินงานการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ ในเขตพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 4 (จังหวัดกําแพงเพชร จังหวัดสุโขทัย จังหวัดแพร่ และจังหวัดตาก) พร้อมผลการดําเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ ในเขตพื้นที่จังหวัดกําแพงเพชร และผลการดําเนินงานของโครงการส่งน้ำและบํารุงรักษาท่อทองแดง จากนั้น องคมนตรี และคณะ เยี่ยมชมพื้นที่โครงการฯ และพบปะราษฎรในพื้นที่
 
เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2521 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานธงลูกเสือชาวบ้าน จังหวัดกำแพงเพชร ต่อมา วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2521 พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการ โครงการชลประทานประเภทรับน้ำนอง ซึ่งกรมชลประทานได้สนองพระราชดำริโดยการเปิดโครงการชลประทานประเภทรับน้ำนอง พื้นที่ตำบลหนองปลิง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ขึ้นในปี 2524 ได้ก่อสร้างอาคารปากคลองส่งน้ำบริเวณตลิ่ง และขุดลอกคลองชักน้ำรับน้ำจากแม่น้ำปิง แล้วเสร็จในปี 2528 สามารถส่งน้ำในพื้นที่ได้ประมาณ 100,000 ไร่ ต่อมาในปี 2530 จังหวัดกำแพงเพชร ประสบปัญหาภาวะภัยแล้ง ทำให้พืชผลด้านเกษตรกรรมได้รับความเสียหายอย่างมาก โดยเฉพาะปัญหาน้ำจากแม่น้ำปิงไม่ไหลเข้าโครงการชลประทานประเภทรับน้ำนอง ทางด้านฝั่งซ้ายของแม่น้ำปิง จึงมีการเสนอโครงการก่อสร้างฝายชั่วคราวกั้นแม่น้ำปิงเพื่อยกระดับน้ำให้เข้าคลองส่งน้ำ โดยก่อสร้างในบริเวณใต้คลองส่งน้ำโครงการท่อทองแดงเป็นแห่งแรก เป็นโครงการนำร่อง แต่ก็ประสบปัญหาไม่สามารถส่งน้ำเข้าระบบได้ ในปี 2536 จึงได้ดำเนินการสร้างฝายชั่วคราวกั้นแม่น้ำปิง และในปี 2547 ได้มีการปรับปรุงคลองส่งน้ำสายใหญ่และท่อระบายน้ำปากคลอง ต่อมาในปี 2555 โครงการฝายชั่วคราวกั้นแม่น้ำปิงได้ยกระดับเป็นโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง และได้มีการพัฒนาระบบคลองส่งน้ำ ปรับปรุงอาคารปากคลองส่งน้ำใหม่ จากเดิมรับน้ำจากแม่น้ำปิงเข้าในอัตรา 25 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มเป็น 70 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้เพิ่มพื้นที่ส่งน้ำในเขตชลประทานได้ประมาณ 245,560 ไร่ พื้นที่นอกเขตชลประทานได้ประมาณ 82,240 ไร่ และพื้นที่รับประโยชน์ในเขตจังหวัดสุโขทัย บริเวณอำเภอคีรีมาศ และ อำเภอกงไกรลาศ ได้ประมาณ 56,000 ไร่ รวมพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์ซึ่งอยู่ในเขตรับผิดชอบการส่งน้ำประมาณ 383,800 ไร่
 
ในการสนองพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้จัดทำแผนการปรับปรุงโครงการฯ ประกอบด้วย การปรับปรุงช่วงต้นคลอง การปรับปรุงคลองส่งน้ำและอาคารประกอบ จำนวน 20 สาย และโครงการแก้มลิง จำนวน 24 แห่ง โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว รวมทั้งสิ้น 17 โครงการ 74 กิจกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำของราษฎรในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงให้สามารถใช้น้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพทั้งด้านอุปโภคบริโภค การประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม การประมง รวมถึงช่วยลดปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นนำความสุขมาสู่ประชาชนได้อย่างมั่นคงสืบไป