สายธารแห่งน้ำพระราชหฤทัย

387219265 720666736774600 2754161289248633637 n

 

“...โดยมากงานที่ขึ้นมาเป็นเอกก็คืองานชลประทาน เพราะว่าถือว่าถ้าหากไม่มีชลประทานประเทศก็แห้งแล้ง เมื่อแห้งแล้งแล้วเพาะปลูกก็ไม่ได้ พอเพาะปลูกไม่มีก็ไม่มีการทำงานด้านเกษตร ซึ่งเป็นงานที่ได้ผลประโยชน์แก่ราษฎรโดยตรง การชลประทานนี่ก็นึกถึงเกษตร แต่ว่าความเป็นอยู่ของประชาชนธรรมดา น้ำบริโภคก็ต้องมี...”
พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานแก่คณะเอกอัครราชฑูตและกงสุลใหญ่ไทย ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันพุธที่ 26 กรกฎาคม พุทธศักราช 2532
 
กรมชลประทานได้สนองพระราชดำริในงานด้านการพัฒนาแหล่งน้ำทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานแนวพระราชดำริไว้อย่างชัดเจนว่า การพัฒนานั้นจะต้องขึ้นอยู่บนพื้นฐานของความสามารถพึ่งตนเองได้ของราษฎรเป็นสำคัญ โดยการพัฒนาในแต่ละพื้นที่ก็จะต้องสอดคล้องกับความต้องการประชาชนและปัญหาของภูมิภาคนั้น ๆ
 
ปัญหาสำคัญทางภาคเหนือ คือ ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ แนวพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาเป็นการหาหนทางยับยั้งไม่ให้ราษฎรชาวไทยภูเขาบุกรุกทำลายป่า และมีการอนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำให้คงความสมบูรณ์ตลอดไป เช่น การจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ การศึกษาระบบป่าเปียก เป็นต้น และพระราชทานแนวพระราชดำริ การพัฒนาผสมผสานอนุรักษ์ต้นน้ำลำธารโดยการสร้างฝายชะลอน้ำ (Check Dam) ตามพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการหลวงเพื่อให้ชาวไทยภูเขามีหลักแหล่งที่อยู่ถาวรและมีอาชีพที่มั่นคง
 
ส่วนงานชลประทานในภาคกลางกรมชลประทานได้สนองงานตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำเพื่อรักษาความสมบูรณ์ของแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนที่สำคัญสำหรับการเกษตร อาทิ เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก เขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี และจังหวัดสระบุรี เขื่อนขุนดานปราการชล จังหวัดนครนายก ตลอดจนพระราชทานพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำ เช่น การบำบัดน้ำเสีย ที่แหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น การบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในลักษณะแก้มลิง เช่น แก้มลิงหนองสมอใส จังหวัดลพบุรี สระเก็บน้ำพระราม 9 จังหวัดปทุมธานี การสร้างประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อเร่งการระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาออกสู่ทะเลให้เร็วขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้ราษฎรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการดังกล่าวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
 
สำหรับงานชลประทานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริให้แก้ไขปัญหาความแห้งแล้งและการขาดแคลนน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคและการเกษตร รวมทั้งการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ตัวอย่างเช่น ที่ลำน้ำก่ำ หนองหาร จังหวัดสกลนคร มีพระปรีชาสามารถในการร่างแบบโครงการที่ถือเป็นโครงการใหม่ในการแก้ไขปัญหา โดยพระราชทานภาพวาด “ตัวยึกยือ” ให้กับกรมชลประทานไปพิจารณาแนวทางดำเนินการ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2535 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาพื้นที่บริเวณสองฝั่งริมลำน้ำธรรมชาติที่มีปัญหา
 
ในส่วนของภาคใต้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงตระหนักว่าปัญหาที่แท้จริงมิได้อยู่เพียงแค่การขาดแคลนน้ำและปัญหาน้ำมากเท่านั้น แต่ปัญหาคุณภาพน้ำก็เป็นปัญหาสำคัญที่สะสมมายาวนาน พระราชกรณียกิจด้านชลประทานจึงมุ่งเน้นที่การแก้ไขการรุกล้ำของปัญหาดินเปรี้ยว และพื้นที่พรุซึ่งเป็นพื้นที่น้ำท่วมขังตลอดทั้งปี ทรงเล็งเห็นว่า หากได้มีการระบายน้ำออกจากพรุลงสู่ทะเลบ้างตามความเหมาะสม ก็ทำให้พื้นที่ขอบพรุแห้งลง ราษฎรสามารถใช้เพาะปลูกได้ ส่วนพื้นที่ใจกลางพรุก็จะสงวนไว้เพื่อใช้เก็บกักน้ำ ด้วยการก่อสร้างประตูระบายน้ำ ในฤดูฝนจะระบายน้ำส่วนที่เกินทิ้งลงทะเล ส่วนในระยะฝนทิ้งช่วงก็จะเก็บกักน้ำในคลองระบายน้ำและในพรุไว้ในระดับที่ต้องการ เพื่อใช้สำหรับการเพาะปลูกในพื้นที่บริเวณขอบพรุ เช่น โครงการระบายน้ำพรุบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส