องคมนตรีติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พื้นที่จังหวัดเพชรบุรี

 

 

356628774 662271382614136 504855723733175004 n

356706077 662271392614135 7371435425609290862 n

 

 

วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2566 เวลา 09.30 น. พลเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง และ พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง และคณะอนุกรรมการฯ โดยมีนายปวัตร์ นวะมะรัตน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) นายพงศธร ศิริอ่อน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านสำรวจและหรือออกแบบ) นายนรเศรษฐ สองทอง ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 14 นายสัณฐิต พีรานนท์ ผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นายสัญญา สุริวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างขนาดกลางที่ 14 นายธรรมนูญ อินทร์นุช ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 14 นายสมเกียรติ แจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเพชรบุรี นายสันต์ จรเจริญ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี นายมีชัย ปฎิยุทธ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแก่งกระจาน และผู้ที่เกี่ยวข้อง ประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง​ ครั้งที่​ 2/2566 ณ ห้องประชุมพริบพรี ศาลากลางจังหวัดเพชรบุรี ตำบลคลองกระแชง อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี พร้อมติดตามความก้าวหน้าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี

ในการนี้ กรมชลประทานได้บรรยายสรุปผลการดำเนินงานโครงการบรรเทาอุทกภัยเพชรบุรีตอนล่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำของคลองระบายน้ำ D1 และบรรยายสรุปภาพรวมสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี

ต่อมา เวลา 13.00 น. องคมนตรีพร้อมคณะ ได้เดินทางไปติดตามผลการดำเนินงานบริเวณจุดก่อสร้างประตูระบายน้ำปากคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวา 1 (RMC1) ตำบลท่าคอย อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี โดยนายสันต์ จรเจริญ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี ได้บรรยายสรุป ดังนี้

ประตูระบายน้ำปากคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวา 1 (RMC1) เป็นประตูสำหรับใช้บังคับน้ำผ่านเข้าคลองสายใหญ่ 1 ตามโครงการบรรเทาอุทกภัยเพชรบุรีตอนล่าง มีขนาดบานระบาย 8 X 7 เมตร จำนวน 3 ช่อง และขนาด 4 X 7 เมตร จำนวน 1 ช่อง สามารถผันน้ำเหนือเขื่อนเพชรปริมาณ 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ไปรวมกับคลองอีกสายหนึ่งที่จะมีการขุดขึ้นใหม่เหนือเขื่อนเพชรขึ้นไปประมาณ 2 กิโลเมตร โดยการปรับปรุงคลองลำห้วยยางขยายให้ใหญ่ขึ้น เพื่อผันน้ำไปในอัตรา 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งทั้ง 2 สายนี้มีปริมาณน้ำรวม 350 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ไหลมารวมกันบริเวณบ้านหนองขานางเป็นคลองสาย D1 ที่จะนำน้ำ 350 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ผันไปทิ้งลงทะเลบริเวณตำบลบางเก่า อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นการบายพาสน้ำส่วนเกินในช่วงฤดูน้ำหลาก ไม่ให้ไหลเข้าเมืองเพชรบุรีเกินศักยภาพของแม่น้ำเพชร โดยช่วงตัวเมืองสามารถรับน้ำได้เพียง 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเท่านั้น ประตูระบายน้ำแห่งนี้รวมทั้งคลองระบายทั้งสายยาว 3.35 กิโลเมตร คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ปัจจุบันการก่อสร้างประตูระบายน้ำปากคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวา 1 (RMC1) รวมทั้งคลองส่งน้ำอีกส่วนหนึ่ง ผลงานการดำเนินงาน ร้อยละ 50

ต่อมา เวลา 14.00 น. องคมนตรีพร้อมคณะ ได้เดินทางไปติดตามผลการดำเนินงานโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยสงสัยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี โดยนายสมเกียรติ แจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเพชรบุรี ได้บรรยายสรุปผลการดำเนินงานของโครงการดังกล่าว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ รับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ตามที่ราษฎรตำบลเขากระปุกมีหนังสือขอให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานการขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยสงสัย บ้านโป่งเกตุ หมู่ที่ 9 ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งอยู่ในพื้นที่โครงการจัดพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์ (หนองพลับ) เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร ซึ่งกรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2536 มีลักษณะโครงการเป็นอ่างเก็บน้ำ ขนาดความจุ 4.054 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำ จำนวน 3 สาย สายละประมาณ 3.5 กิโลเมตร ความยาวรวม 10.5 กิโลเมตร สามารถส่งน้ำสนับสนุนพื้นที่ทำการเกษตร จำนวน 4,500 ไร่ในฤดูฝน และจำนวน 2,000 ไร่ ในฤดูแล้ง ช่วยบรรเทาอุทกภัย โดยมีการบริหารจัดการน้ำของกลุ่มผู้ใช้น้ำเสริมสร้างความเข้มแข็งในชุมชน

จากนั้น องคมนตรีพร้อมคณะ ได้เดินทางไปยังแปลงเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยสงสัยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 2 ราย ได้แก่ แปลงเกษตรของ นายสมนึก เทศอ้น อาสาสมัครชลประทาน และประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำอ่างเก็บน้ำห้วยสงสัยฯ และแปลงเกษตรของ นางองุ่น แก้วเมืองเพชร