องคมนตรีติดตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.อุบลราชธานี

 

 
image-1
IMAGE-2
 
 
 
 
 
วันที่ 11 มีนาคม 2565 นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และนายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ ลงพื้นที่ไปติดตามความก้าวหน้าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีนายพงศธร ศิริอ่อน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านสำรวจและหรือออกแบบ) กรมชลประทานในฐานะอนุกรรมการฯ พร้อมด้วยนายจักริน ประเสริฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 7 นายเกียรติศักดิ์ หนูแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 และผู้เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ด้วย
 
กรมชลประทาน ได้ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบริเวณตอนบนของลุ่มน้ำชีในเขตจังหวัดชัยภูมิ 5 โครงการ เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะมีความจุเก็บกักรวมประมาณ 240 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์รวมกว่า 188,000 ไร่ ประกอบด้วย
1) อ่างเก็บน้ำโปร่งขุนเพชร มีความจุเก็บกัก 43.70 ล้าน ลบ.ม. แผนงานก่อสร้าง 8 ปี (2559-2566) ความก้าวหน้าในภาพรวม 96%
2) อ่างเก็บน้ำลำสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (พระราชดำริของรัชกาลที่ 9) มีความจุเก็บกัก 46.90 ล้าน ลบ.ม. แผนงานก่อสร้าง 6 ปี (2562-2567) มีความก้าวหน้าไปแล้วกว่า 38 %
3) อ่างเก็บน้ำลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (พระราชดำริของรัชกาลที่ 9) มีความจุเก็บกัก 70.21 ล้าน ลบ.ม. แผนงานก่อสร้าง 6 ปี (2562-2567) มีผลความก้าวหน้ากว่า 16%
4) อ่างเก็บน้ำพระอาจารย์จื่อ (ลำกระจวน) มีความจุเก็บกัก 33.448 ล้าน ลบ.ม. แผนงานก่อสร้าง 5 ปี (2563-2567) ความก้าวหน้าในภาพรวม 16%
5) อ่างเก็บน้ำลำเจียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (พระราชดำริของรัชกาลที่ 9) มีความจุเก็บกัก 45.17 ล้าน ลบ.ม. แผนก่อสร้าง 4 ปี (2564-2567) ความก้าวหน้าในภาพรวม 3%
 
ในส่วนของการพัฒนาหนองน้ำธรรมชาติเป็นแก้มลิงทั้งสองฝั่งลำน้ำชีตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2539 และเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2540 ในชื่อโครงการพัฒนาแหล่งน้ำสองฝั่งลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ผ่านมากรมชลประทานร่วมกับจังหวัดขอนแก่นและกองทัพภาคที่ 2 ได้รับสนองแนวพระราชดำริ ตั้งแต่ปี 2541–2545 รวม 34 โครงการ เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักรวม 57.66 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์กว่า 38,900 ไร่ โดยในปี 2563-2566 มีแผนพัฒนาแหล่งน้ำสองฝั่งลำน้ำชี รวม 15 โครงการ ประกอบด้วย โครงการในเขตจังหวัดขอนแก่น 2 โครงการ จังหวัดชัยภูมิ 5 โครงการ จังหวัดร้อยเอ็ด 6 โครงการ และจังหวัดอุบลราชธานี 2 โครงการ ปัจจุบันกรมชลประทานได้ดำเนินการแล้วเสร็จ 6 โครงการ อยู่ระหว่างก่อสร้าง 2 โครงการ และอีก 7 โครงการ อยู่ระหว่างเสนอขอตั้งงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2566
 
ต่อมาองคมนตรีและคณะฯ ได้เดินทางไปยังพื้นที่บริเวณที่จะดำเนินการก่อสร้างโครงการแก้มลิงกุดนาแซงพร้อมอาคารประกอบ ตำบลหนองบ่อ อำเภอเมืองอุบลราชธานี ซึ่งเป็น 1 ใน 7 โครงการพัฒนาแหล่งน้ำสองฝั่งลำน้ำชีฯ ปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอขอตั้งงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2566 เป็นงานขุดลอกแก้มลิง จากความจุเดิม 0.40 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้นเป็น 1.40 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์ 980ไร่ สนับสนุนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค 150 ครัวเรือน
 
จากนั้นในช่วงบ่าย องคมนตรีและคณะฯ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมและรับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานโครงการอ่างเก็บน้ำลำห้วยบอนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลโซง อำเภอน้ำยืน ซึ่งเป็นโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2539 มีลักษณะเป็นเขื่อนดิน (Zone Type) ความจุเก็บกัก 6.015 ล้าน ลบ.ม. แผนงานก่อสร้างระยะเวลา 5 ปี (ปี 2563 – 2567) ปัจจุบันมีผลความก้าวหน้าในภาพรวม 5% เมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ประมาณ 5,000 ไร่ ช่วยบรรเทาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และการเกษตรของราษฎรในเขตอำเภอน้ำยืน (ตำบลสีวิเชียร ตำบลโซง ตำบลโดมประดิษฐ์ และตำบลยาง) จังหวัดอุบลราชธานี ได้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี