องคมนตรีพร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่ภาคใต้

 

 
image-1
IMAGE-2
 
 
 
 
 
 
วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2565 พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคใต้ และ พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาทในฐานะรองประธานอนุกรรมการฯ พร้อมคณะอนุกรรมการฯ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินทางไปติดตามการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในเขตพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมเยี่ยมชมสภาพพื้นที่ที่ดำเนินการ จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองสังข์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลกรุงหยัน อำเภอทุ่งใหญ่ และโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเมือง และฟังการบรรยายการบริหารจัดการลุ่มน้ำโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง โดยมีนายชุตินทร เพ็ชรไชย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านวางแผนและโครงการ) ผู้แทนกรมชลประทานในฐานะอนุกรรมการฯ พร้อมด้วยนายปริญญา สักคนายก ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 15 นายเสริมชัย เซียวสิริถาวร ผู้อำวยการสำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ นายธเนศ ดิษฐปัญญา ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 10 นายก่อพงศ์ เจ้ยแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 15 นายพิทักษ์พงษ์ ติ๊บแก้ว ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครศรีธรรมราช นายพีรสิชฌ์ อนันต์วณิชย์ชา ผู้ช่วยผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และผู้เกี่ยวข้องร่วมติดตามฯ ในครั้งนี้
 
โครงการอ่างเก็บน้ำคลองสังข์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอทุ่งใหญ่ เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่9 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงทอดพระเนตรบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำคลองสังข์และทรงเยี่ยมราษฎรท้องที่อำเภอทุ่งใหญ่ เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2523 พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทาน พิจารณาวางแผนโครงการก่อสร้างฝายทดน้ำและอ่างเก็บน้ำคลองสังข์ จัดหาแหล่งน้ำให้ราษฎรอำเภอทุ่งใหญ่ มีน้ำใช้อุปโภค บริโภค และทำการเกษตร ปัจจุบันกรมชลประทานโดยสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 15 ดำเนินการก่อสร้างทำนบดินหัวงานผลงานร้อยละ 44 และจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2566 ทั้งนี้เมื่อดำเนินโครงการแล้วเสร็จจะช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกของฝายคลองสังข์ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณ 11,200 ไร่ เป็นแหล่งน้ำสำหรับการอุปโภค-บริโภคของราษฎร จำนวน 1,000 ครัวเรือน และสามารถบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำตำบลท่ายาง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช
 
โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชทานพระราชดำริ เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2531 สรุปความว่า น้ำจำนวนมากจากคลองท่าดีมักจะรวมกับน้ำหลากจากคลองเสาธงซึ่งมีพื้นที่ลุ่มน้ำอยู่ข้างเคียง เมื่อไหลบ่าลงสู่ท้องทะเลพร้อมๆ กัน จะทำให้เกิดน้ำท่วมตัวจังหวัดนครศรีธรรมราชอย่างรุนแรง ดังเช่นอุทกภัยที่เกิดกับตัวเมืองนครศรีธรรมราชเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2531 ที่ผ่านมา สมควรพิจารณาขุดลอกลำน้ำที่ผ่านตัวเมืองให้ลึกพร้อมกับขยายลำน้ำเหล่านั้นให้มีความกว้างมากขึ้น รวมทั้งพิจารณาขุดทางระบายน้ำใหม่เพิ่มขึ้นอีกตามความเหมาะสม ก็จะช่วยระบายน้ำที่ไหลลงมายังตัวเมืองให้ผ่านลงสู่อ่าวไทยได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ผลความก้าวหน้าดำเนินก่อสร้างรวมร้อยละ 14 เนื่องจากการส่งพื้นที่ก่อสร้างให้ผู้รับจ้างล่าช้า และในเดือนกุมภาพันธ์ จะสามารถดำเนินการจ่ายค่าชดเชยที่ดินได้ครบทุกแปลง สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่จะขออนุมัติขยายสัญญา เพื่อให้การดำเนินการต่อไปเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
 
ในการนี้ นายประเสริฐ เล็กรุ่งเรืองกิจ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานลพบุรี ผู้แทนกรมชลประทาน ได้กราบบังคมทูลรายงานแผนงานพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ศูนย์ทหารปืนใหญ่ เพื่อสนับสนุนโครงการแก้ไขและบรรเทาอุทกภัยพื้นที่อำเภอเมืองลพบุรี (ตลาดเสาธงและพื้นที่กองบิน 2) ดังนี้
 
1. โครงการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่ โดยเพิ่มขนาดลาดด้านท้ายเขื่อนเดิมให้มีขนาดใหญ่ขึ้นตามความเหมาะสม เพื่อเพิ่มความมั่นคงแข็งแรงให้แก่ตัวเขื่อน
2. โครงการก่อสร้างฝายห้วยใหญ่ 1 พร้อมขุดลอกบริเวณด้านหน้าและด้านท้ายฝาย เพื่อชะลอน้ำป่าไหลหลากในช่วงฤดูฝน และยังสามารถเก็บกักน้ำไว้บริเวณด้านหน้าฝาย เป็นแหล่งน้ำไว้ใช้ช่วงฤดูแล้ง รวมทั้งก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กบริเวณด้านเหนือฝาย เพื่อให้ราษฎรสามารถสัญจรได้อย่างสะดวก
3.โครงการก่อสร้างฝายห้วยใหญ่ 2 พร้อมขุดลอกบริเวณด้านหน้าฝาย รวมทั้งก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กบริเวณด้านเหนือฝาย
 
เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถส่งน้ำสนับสนุนพื้นที่การเกษตรของโครงการทหารพันธุ์ดี ค่ายภูมิพล ได้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี รวมทั้งสามารถส่งน้ำสนับสนุนพื้นที่การเกษตรได้ประมาณ 3,000 ไร่ และสามารถบรรเทาอุทกภัยในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงได้ประมาณ 2,500 ครัวเรือน