

ปริมาณฝนทางตอนบนลดลง กรมชลประทาน เร่งเก็บกักน้ำสำรองไว้ใช้ฤดูแล้งหน้าให้มากที่สุด พร้อมเฝ้าระวังฝนตกหนักในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันออก ตามประกาศของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.)
ดร.วัชระ เสือดี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน(ด้านบำรุงรักษา) กรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ปัจจุบัน (18 ต.ค.64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 55,566 ล้าน ลบ. หรือคิดเป็นร้อยละ 73 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 31,634 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้รวมกันอีกประมาณ 20,590 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 13,586 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 55 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 6,890 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้รวมกันอีกประมาณ 11,285 ล้าน ลบ.ม.
ด้านสถานการณ์อุทกภัย จากอิทธิพลร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ในช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา และอิทธิพลของพายุโซนร้อน “คมปาซุ” ที่อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้มีพื้นที่ประสบอุทกภัย รวมทั้งสิ้น 21 จังหวัด ได้แก่ 1)นครราชสีมา 2)ชัยภูมิ 3)ขอนแก่น 4)มหาสารคาม 5)กาฬสินธุ์ 6)อุบลราชธานี 7)ลพบุรี 8)สระบุรี 9)พระนครศรีอยุธยา 10)สิงห์บุรี 11)อ่างทอง 12)พิษณุโลก 13)พิจิตร 14)ชัยนาท 15)สุพรรณบุรี 16)อุทัยธานี 17)ร้อยเอ็ด 18)ตราด 19)ปราจีนบุรี 20)เชียงใหม่ 21)ฉะเชิงเทรา กรมชลประทาน ได้เร่งเข้าให้ความช่วยเหลือด้วยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังในพื้นที่เสี่ยง รวมทั้งประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ทำการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง เพื่อลดผลกระทบที่เกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 17 - 19 ต.ค. 64 ความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้ร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันออก ทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนลดลง ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันออกยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน จึงได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยง ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มศักยภาพของพื้นที่ เตรียมพร้อมด้านเครื่องจักรเครื่องมือ และเจ้าหน้าที่ ประจำจุดเสี่ยงพร้อมปฏิบัติงานได้ตลอดเวลา และประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ประชาชนทราบถึงสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด ส่วนในพื้นที่ที่ปริมาณฝนเริ่มลดลงแล้ว ให้เร่งเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำ ไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้า ตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามสถานกาณ์น้ำในระยะนี้อย่างใกล้ชิด หากต้องการความช่วยเหลือติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้านหรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา
กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
18 ตุลาคม 2564