

วันที่ 24 สิงหาคม 2564 เวลา 14.00 น. นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เข้าร่วมประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมระบบผันน้ำจากเขื่อนภูมิพลไปยังฝั่งตะวันออกสู่คลองแม่ระกา จังหวัดตาก โดยมี นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เป็นประธานการประชุม และนายพรมงคล ชิดชอบ ผู้อำนวยการส่วนวางโครงการที่ 1 เป็นผู้กล่าววัตถุประสงค์โครงการ พร้อมด้วยผู้แทนจากกรมชลประทาน บริษัทที่ปรึกษา หน่วยงานราชการ องค์กรภาคเอกชน ผู้นำชุมชน และประชาชนกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการพัฒนาโครงการ ผ่านระบบ Zoom Conference
กรมชลประทาน ได้จัดประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมระบบผันน้ำจากเขื่อนภูมิพลไปยังฝั่งตะวันออกสู่คลองแม่ระกา จังหวัดตาก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการดำเนินงาน และผลการศึกษาพัฒนาโครงการฯให้หน่วยงานและประชาชนได้รับทราบ ตลอดจนสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง พร้อมรับฟังและเเลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับผลการศึกษาระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชน เพื่อนำไปปรับปรุงผลการศึกษาให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ถือเป็นการแสดงเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่นของกรมชลประทานในการพัฒนาแหล่งน้ำควบคู่กับความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของประชาชน โดยกรมชลประทานจะรวบรวมข้อมูลดังกล่าว เพื่อนำไปประกอบในการจัดทำแผนโครงการฯ และบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป
สำหรับโครงการศึกษาความเหมาะสมระบบผันน้ำจากเขื่อนภูมิพลไปยังฝั่งตะวันออกสู่คลองแม่ระกา จังหวัดตาก เกิดขึ้นจากการที่ราษฎรในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของจังหวัดตากประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ และเป็นพื้นที่แล้งซ้ำซากในลุ่มน้ำคลองแม่ระกา โดยเฉพาะอำเภอเมืองตากในพื้นที่ 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลโป่งแดง ตำบลวังประจบ ตำบลน้ำรึม และตำบลตลุกกลางทุ่ง มีพื้นที่เกษตรรวมประมาณ 137,289 ไร่ จำนวน 10,350 ครัวเรือน ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวไม่มีศักยภาพในการสร้างแหล่งเก็บน้ำที่มีความจุเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำได้ ทั้งนี้ ผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการฯ สอดคล้องกับการประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียของโครงการฯ นอกจากนี้ ยังพบว่าพื้นที่ตอนบนตามแนวท่อส่งน้ำที่อยู่นอกพื้นที่โครงการฯ เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรในฤดูแล้ง จึงได้วางแผนกระจายน้ำเพิ่มเติมในช่วงฤดูแล้งให้พื้นที่เกษตรกรรมตามแนวท่อส่งน้ำที่อยู่นอกพื้นที่โครงการฯ ในพื้นที่ตำบลสามเงา อำเภอสามเงา และตำบลแม่สลิด อำเภอบ้านตาก อีกประมาณ 5,000 ไร่ รวมพื้นที่รับประโยชน์ 55,000 ไร่ จะช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพิ่มผลผลิตภาคการเกษตร ทำให้ราษฎรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น