

วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ เป็นประธานการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปิงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายไพรัตน์ ทับประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ นายปกรณ์ สุตสุนทร ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา นายพรมงคล ชิดชอบ ผู้อำนวยการส่วนวางโครงการที่ 1 ผู้แทนสำนักงานชลประทานที่ 1 พร้อมด้วย ผู้แทนจากสำนักงานเกษตรอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ผู้แทนจากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 จังหวัดเชียงใหม่ ผู้แทนจากเทศบาลตำบลแม่สอย จังหวัดเชียงใหม่ ผู้แทนจากบริษัทที่ปรึกษา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมผ่านระบบ Video Conference
ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อเป็นไปตามมาตรการป้องกัน ทางกรมชลประทานได้จัดประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปิงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นกลุ่มย่อยกับชาวบ้านผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ไปก่อนหน้านี้แล้ว
การจัดประชุมในครั้งนี้ เพื่อนำเสนอข้อมูลและสรุปแผนการศึกษาความเหมาะสม พร้อมทั้ง รับฟังข้อเสนอแนะแนวทางขับเคลื่อนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปิงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโครงการฯที่กรมชลประทานได้จัดทำแผนการศึกษาทั้งด้านวิศวกรรมและด้านสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมการเปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน เพื่อพัฒนาและปรับปรุงโครงการฯต่างๆ ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด อาทิ การปรับปรุงอ่างเก็บน้ำเดิม การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำใหม่เพิ่มเติม การปรับปรุงสถานีสูบน้ำ การปรับปรุงสภาพลำน้ำท้ายอ่างเก็บน้ำ เป็นต้น ช่วยเพิ่มปริมาณกักเก็บน้ำต้นทุนได้ประมาณ 20.51 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) ทำให้ประชาชนมีน้ำใช้อย่างพอเพียงตลอดทั้งปี
โครงการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปิงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อยู่ในเขตพื้นที่ อำเภอจอมทอง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน มีพื้นที่รับประโยชน์ 14,318 ไร่ ทั้งนี้ได้คัดเลือกโครงการอ่างพวงมาศึกษาความเหมาะสม ประกอบไปด้วย โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยปุ๊ตอนบนใหม่และระบบอ่างพวง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยปุ๊ตอนบนใหม่ อ่างเก็บน้ำห้วยปุ๊ตอนล่าง อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำอุ่น และอ่างเก็บน้ำห้วยนิคม ทำให้มีปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มมากขึ้น ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง เกิดการพัฒนาด้านการเกษตร ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ลำน้ำธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน