

วันที่ 18 มีนาคม 2564 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ ตามข้อสั่งการของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้มอบหมายให้กรมชลประทานดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เพื่อพัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ให้เป็นพื้นที่ชะลอน้ำและรองรับน้ำหลากในช่วงฤดูฝน สามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์ได้ในช่วงฤดูแล้ง พร้อมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติให้เป็นไปตามกรอบแนวทางการบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติและแม่น้ำลำคลองอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมี นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม ผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล นายธีระพล ตั๊งสมบุญ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา นายวิทยา แก้วมี ผู้อำนวยการกองแผนงาน นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ พร้อมด้วยผู้อำนวยการสำนัก กอง และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมดงตาล ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน กรุงเทพฯ
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ จำนวน 11 แห่ง ได้แก่ 1.แนวทางการพัฒนาหนองช้างใหญ่ จ.อุบลราชธานี 2.แนวทางการพัฒนากว๊านพะเยา จ.พะเยา 3.แนวทางการพัฒนาหนองเล็งทราย จ.พะเยา 4.แนวทางการพัฒนาบึงราชนก จ.พิษณุโลก 5.แนวทางการพัฒนาบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ 6.แนวทางการฟื้นฟูแม่น้ำพิจิตร จ.พิจิตร 7.แนวทางการพัฒนาหนองหาร จ.สกลนคร 8.แนวทางการพัฒนาเวียงหนองหล่ม จ.เชียงราย 9.แนวทางการพัฒนาแก่งน้ำต้อน จ.ขอนแก่น 10.แนวทางการพัฒนาแก่งละว้า จ.ขอนแก่น และ 11.แนวทางการพัฒนาบึงละหาน จ.ชัยภูมิ
ในการนี้ อธิบดีกรมชลประทาน ได้มีข้อสั่งการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการจัดทำข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น Masterplan การดำเนินงาน ขั้นตอนการเตรียมความพร้อม ปริมาณงานที่ต้องดำเนินการ ระยะเวลาการดำเนินการ การขออนุญาตใช้พื้นที่ รวมถึงพิจารณากิจกรรมต่างๆ ให้สอดคล้องกับการดำเนินงาน เพื่อให้สามารถทราบถึงภาพรวมและองค์ประกอบของโครงการ ส่งผลให้การวางแผนงานเป็นไปอย่างมีระบบและก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนได้อย่างสูงสุด