

วันที่ 15 ธ.ค. 63 นายสำราญ สาราบรรณ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ปี 2563 ผ่านระบบ Web conference โดยมี ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม อาคาร SWOC กรมชลประทาน ถนนสามเสน
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการคาคการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ทางตอนบนของประเทศไทยมีฝนน้อยลง ส่วนทางภาคใต้ยังคงมีมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้เริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง จึงสั่งการให้สำนักงานชลประทานที่ 14 -17 เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด ตามข้อสั่งการของ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ห่วงใยประชาชนในพื้นที่ภาคใต้
สำหรับสถานการณ์น้ำ ปัจจุบัน (15 ธ.ค. 63) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง มีปริมาณน้ำ 43,768 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 62 ของความจุอ่างรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 20,225 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 341 แห่ง มีปริมาณน้ำ 4,044 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 80 ของความจุอ่างรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 3,667 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 1,013 แห่ง มีปริมาณน้ำ 468 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 69 ของความจุอ่างรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 296 ล้าน ลบ.ม. ส่วนสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ ป่าสักฯ) มีปริมาณน้ำรวมกัน 12,242 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 49 ของความจุอ่างรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 5,546 ล้าน ลบ.ม. ในส่วนของผลการจัดสรรน้ำช่วงฤดูแล้ง ปี 2563/64 ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทำการจัดสรรน้ำไปแล้ว 843 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 21 ของแผน เนื่องจากสภาพน้ำต้นทุนมีจำกัด ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน พร้อมกับเน้นย้ำให้ปฏิบัติตามมาตรการในการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูแล้งของกรมชลประทานอย่างเคร่งครัด
ด้านสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้นั้น กรมชลประทาน ได้เร่งนำเครื่องจักร เครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ และเครื่อง Hydro Flow เข้าติดตั้งในพื้นที่ เพื่อเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด พร้อมทั้งผันน้ำเข้าไปเก็บยังแหล่งน้ำตามธรรมชาติ และในแม่น้ำลำคลองต่างๆ เพื่อสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งต่อไป
ทั้งนี้ ในส่วนของการควบคุมค่าความเค็มที่ลุกล้ำเข้ามาตามแม่น้ำสายต่างๆ กรมชลประทาน ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติการ Water Hammer เพื่อกระชากค่าความเค็ม ซึ่งขณะนี้สามารถควบคุมค่าความเค็มให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
15 ธันวาคม 2563