กรมชลฯ ร่วมหารือเนเธอร์แลนด์ เดินหน้าความร่วมมือบริหารจัดการน้ำ

514346111 1167122468794158 1793278346778135023 n

512147903 1167123855460686 8724097550181671359 n

 

513910658 1167122655460806 6761412656459171663 n

512686050 1167122558794149 7331825132828063111 n

 

        วันนี้ ( 27 มิถุนายน 2568) ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ Mr. Jaap Slootmaker รัฐมนตรีช่วยว่าการด้านทรัพยากรน้ำ กระทรวงโครงสร้างพื้นฐานและการบริหารจัดการน้ำเนเธอร์แลนด์ พร้อมคณะ ในโอกาสเข้ามาประชุมหารือกับฝ่ายไทยเพื่อติดตามความก้าวหน้า MOU K2K ไทย - เนเธอร์แลนด์ ในการนี้ นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายณัฐพล วุฒิจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา และเจ้าหน้าที่กรมชลประทานที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับและเข้าร่วมประชุม ณ ห้องรับรอง 112 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรุงเทพมหานคร
 
สำหรับการประชุมในวันนี้ ที่ประชุมได้ร่วมหารือในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานภายใต้บันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้านเทคนิค Memorandum of Understanding on Knowledge to Knowledge (K2K) รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ภายใต้ MOU การผลักดันให้โครงการ Partners for International Business (PIB) เข้ามาอยู่ภายใต้กรอบการดำเนินงาน MOU K2K พิจารณาเพิ่มกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาศักยภาพบุคลากรของกรมชลประทานด้วยการจัดให้มีการมอบทุนการศึกษา การฝึกอบรม และพิจารณาในส่วนของการสนับสนุนโครงการ Water as Leverage Academy 2025 (WaL) ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม 2568 ณ กรุงเทพมหานคร
 
ทั้งนี้ โครงการ PIB ที่กรมชลประทานมีความร่วมมือด้วย ได้แก่
1.การจัดฝึกอบรมเสริมสร้างความรู้และทักษะ Module Software โดยการปฏิบัติจริงจากกรณีศึกษาเพื่อการพยากรณ์และการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ประเทศไทย เช่น Delf-FEWS เป็นต้น จากผู้เชี่ยวชาญจากเนเธอร์แลนด์
2.การทำวิจัยและพัฒนาร่วมกัน ซึ่งหมายรวมถึงการใช้แบบจำลองทางกายภาพ (Physical Models) และแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ (Mathernatical Models) ด้วย เช่น การประยุกต์ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อประเมินความต้องการน้ำของพืชนำไปสู่การวางแผนการส่งน้ำอย่างแม่นยำ รวมถึงการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการวิจัยพัฒนาให้ได้มาตรฐานในอนาคต ซึ่งทางเนเธอร์แลนด์มีความชำนาญ
 
3.การสนับสนุนทุนการศึกษาและการฝึกอบรบให้กับบุคลากรของกรมชลประทานได้ไปศึกษาต่อในสถาบัน Deltares, TU Delf และ IHE Delf ระดับปริญญาโท - ปริญญาเอก เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านน้ำ
4.การยกระดับการประชุมวิชาการ "ดงตาล Software Day" ซึ่งเป็นการประชุมในลักษณะเดียวกับงาน Delf Software Day ในการเสริมสร้างพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับโปรแกรมและซอฟต์แวร์ด้านน้ำและการชลประทานในประเทศไทย โดยนำองค์ความรู้จากเนเธอร์แลนด์ องค์กรเครือข่ายระหว่างประเทศ และในประเทศ
 
ในส่วนของโครงการ Water as Leverage Academy 2025 (WaL) ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม 2568 นั้น กรมชลประทานได้สนับสนุนสถานที่ในการจัดกิจกรรมและประสานความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง
การประชุมครั้งนี้นับเป็นอีกก้าวของความร่วมมือด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ด้วยการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างมีประสิทธิภาพ