กรมชลฯ ใช้ระบบชลประทานบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มศักยภาพ พร่องน้ำเตรียมรับมือพายุ “ยางิ”

458376377 917546307086641 1192759299525205179 n

 

458610187 917546257086646 5684904326844510467 n

458205128 917546473753291 6120240346661015044 n

 

        วันนี้ (5 ก.ย. 67) นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย ดร. ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา นายเลอบุญ อุดมทรัพย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชลประทาน (ด้านจัดสรรน้ำและบำรุงรักษา) และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมหน่วยบริหารจัดการน้ำร่วมกับหน่วยงานด้านน้ำและทุกจังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยา โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) อาคาร 99 ปี ม.ล.ชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน กรุงเทพฯ
 
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) เปิดเผยสถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยาวันนี้ เมื่อเวลา 12.00 น. ตรวจวัดปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C.2 จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,503 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สมทบกับแม่น้ำสะแกกรัง ผ่านสถานีวัดน้ำ Ct.19 จ.อุทัยธานี วัดได้ 52 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ปัจจุบัน กรมชลประทาน ใช้ระบบชลประทานในพื้นที่ตอนบน และบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ หน่วงน้ำก่อนจะไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา และควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาไม่เกิน 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อลดผลกระทบพื้นที่ด้านท้ายเขื่อน ขณะเดียวกันได้พิจารณาพร่องน้ำเพื่อรองรับปริมาณน้ำที่จะเพิ่มขึ้น
ขณะที่สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกัน 48,710 ล้าน ลบ.ม. หรือ 64% ของความจุอ่างฯ รวมกัน ยังสามารถรับน้ำได้อีก 27,627 ล้าน ลบ.ม.
 
ทั้งนี้ จากการคาดการณ์สภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) ประเมินทิศทางของพายุไต้ฝุ่น “ยางิ” ถึงแม้กรณีพายุไม่ได้เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย แต่อาจมีอิทธิพลที่จะส่งผลให้ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับในวันนี้มีร่องมรสุมพาดผ่านตอนกลางของประเทศ คาดว่าในช่วง 7 วันข้างหน้านี้จะมีฝนตกหนักเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ในภาคเหนือ โดยเฉพาะบริเวณที่ประสบอุทกภัยในช่วงที่ผ่านมา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคตะวันออก ส่งผลให้มีน้ำท่าเพิ่มสูงขึ้นและมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ อย่างต่อเนื่อง กรมชลประทาน ได้เร่งระบายน้ำในอ่างฯ เพื่อรักษาระดับน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม รวมทั้งเพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนที่อาจจะตกลงมาอีกในระยะต่อไป ลดผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายน้ำให้มากที่สุด
 
กรมชลประทานได้กำชับให้โครงการชลประทานและสำนักเครื่องจักรกล เตรียมพร้อมรับมือฝน โดยได้จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำ พร้อมเจ้าหน้าที่ประจำจุดพื้นที่เสี่ยง ให้สามารถช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที รวมทั้งให้พิจารณาปรับการระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในแต่ละพื้นที่ จึงขอให้ประชาชนติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำจากทางหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด