บ่ายวันนี้ (9 พ.ย. 66) ที่ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ CB 401 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา กรุงเทพมหานคร ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ครั้งที่ 4 โดยมี นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม อาทิ กรุงเทพมหานคร การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และกรมบัญชีกลาง เป็นต้น
การประชุมวันนี้ เพื่อพิจารณาศึกษาข้อสังเกตของรายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่องการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ โดยให้ผู้แทนแต่ละหน่วยงานชี้แจงข้อเท็จจริง พร้อมทั้งแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทสรุป ข้อเสนอแนะ และข้อสังเกตของคณะอนุกรรมาธิการในเล่มรายงานผลการพิจารณาศึกษาดังกล่าวข้างต้น โดยในส่วนของกรมชลประทาน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้ชี้แจงตอบข้อสังเกตคณะอนุกรรมาธิการใน 2 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่ 1 กรมชลประทาน การจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ปี พ.ศ. 2566 ล่วงหน้า ผ่านระบบ Thai Water Plan โดยมีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เป็นเจ้าภาพหลัก บูรณาการทุกภาคส่วนทำให้โครงการมีความครบถ้วน ถูกต้อง และไม่เกิดความซ้ำซ้อนของแผนงาน
ประเด็นที่ 2 กรมชลประทาน เป็นหน่วยงานร่วมบูรณาการแผนหลักการพัฒนาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ โดยมีแผนงาน จำนวน 2 โครงการ ได้แก่
1. โครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำบางขนาก พร้อมอาคารประกอบ ปัจจุบันดำเนินการไปแล้ว 76.56% และคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2567
2. โครงการปรับปรุงคลองบางขนาก ระยะทาง 25.135 กิโลเมตร ประกอบด้วย (2.1) คลองแสนแสบในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตร ความยาว 5.85 กิโลเมตร และ (2.2) คลองบางขนากในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต ความยาว 19.28 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ระหว่างเสนอ ครม. อนุมัติดำเนินการ
ปัจจุบันทั้ง 2 โครงการมีแผนดำเนินงานเตรียมความพร้อมด้านที่ดินในการก่อสร้างแล้ว ซึ่งหากดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถบูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำเสียและการระบายน้ำได้อย่างยั่งยืนในอนาคต