ชป.บริหารจัดการน้ำพื้นที่ตอนบนควบคู่ไปกับการเก็บกัก พร้อมเตรียมรับมือฤดูฝนพื้นที่ตอนใต้ต่อไป

 

 
image-1
IMAGE-2
 
 
 
 
วันที่ 10 ต.ค.65 ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ต่อไป
 
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (19 ก.ย.65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 62,591 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 82 ของความจุอ่างฯ ยังสามารถรับน้ำได้อีก 14,449 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 19,770 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 79 ของความจุอ่างฯ สามารถรับน้ำได้อีก 5,236 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ เหลือเวลาอีกประมาณครึ่งเดือนก่อนจะสิ้นสุดฤดูฝนของทางตอนบน จึงขอให้สำนักงานชลประทานในพื้นที่ตอนบน ตรวจสอบความมั่นคงของอาคารชลประทานที่ใช้งานมาอย่างเต็มศักยภาพในช่วงที่ผ่านมาให้สมบูรณ์พร้อมเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝนสุดท้าย ไว้สำรองใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้าให้ได้มากที่สุด พร้อมวางแผนบริหารจัดการน้ำและแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ เพื่อลดความเสี่ยงผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย
 
อนึ่ง กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 16 -18 ต.ค.65 จะมีปริมาณฝนตกในพิ้นภาคใต้ตอนบน อาทิ บริเวณจังหวัดเพชรบุรี และชุมพร จึงได้กำชับให้สำนักงานชลประทานในพื้นที่ เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ ตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 65 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนด นำข้อมูลและสถิติในปีที่ผ่านมา มาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมเฝ้าระวังและควบคุมปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด พิจารณาปรับการระบายน้ำเพื่อรองรับปริมาณน้ำที่จะเพิ่มขึ้น โดยไม่กระทบต่อพื้นที่ท้ายอ่าง รวมทั้งตรวจสอบอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ หมั่นกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญให้บูรณการร่วมกับหน่วยงานระดับจังหวัดในการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่อง ลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด
 
ข่าว:บุษราคัม
ภาพ:สมชาติ