

วันที่ 6 ตุลาคม 2565 ณ ห้องประชุมบัวหลวง ศาลากลางจังหวัดปทุมธานี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำในเขตพื้นที่จังหวัดปทุมธานี พร้อมลงพื้นที่ตรวจติดตามการบริหารจัดการน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณท่าน้ำวัดโบสถ์ อ.สามโคก และประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี
จากอิทธิพลพายุ โนรู และร่องความกดอากาศต่ำ ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่าน ทำให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากกระจายตัวทั่วประเทศ ส่งผลให้แม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาต่างๆ มีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้น และมีน้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยที่จังหวัดปทุมธานี กรมชลประทาน ได้ใช้แนวคันกั้นน้ำฝั่งตะวันตกและตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขต อ.สามโคก และ อ.เมืองปทุมธานี เป็นแนวป้องกันน้ำ พร้อมใช้ประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำ ที่อยู่ตลอดแนวแม่น้ำเจ้าพระยา เร่งสูบระบายน้ำที่ท่วมขังลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่เพิ่มเติม เพื่อเสริมการระบายน้ำให้เร็วยิ่งขึ้น
สำหรับการบริหารจัดการน้ำในคลองรังสิตประยูรศักดิ์ กรมชลประทาน ได้ใช้สถานีสูบน้ำจุฬาลงกรณ์ 1 2 3 สูบน้ำจากคลองรังสิตฯ รวมประมาณวันละ 12.44 ล้าน ลบ.ม. ส่งต่อไปยังสถานีสูบน้ำกึ่งถาวรปากคลองรังสิตฯ ระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อช่วยลดปริมาณน้ำท่วมขังในเขตพื้นที่จังหวัดปทุมธานีและลดปริมาณไม่ให้ไหลเข้าพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้วางแผนเพิ่มประสิทธิภาพการระบายในคลองรังสิตฯ ด้วยการก่อสร้างโครงการสถานีสูบน้ำถาวรปากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี (2567-2569)
เป็นการก่อสร้างประตูระบายน้ำขนาด 6 เมตร จำนวน 3 ช่อง พร้อมสถานีสูบน้ำขนาด 10 ลบ.ม./วินาที จำนวน 10 เครื่อง ซึ่งหากดำเนินแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำจากคลองรังสิตฯ ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้ดียิ่งขึ้น
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมบูรณาการแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรน้ำในพื้นที่ และเร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว รวมทั้งเร่งดำเนินการซ่อมแซม บำรุงรักษาระบบระบายน้ำ อาคารบังคับน้ำและสถานีสูบน้ำให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุ เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนทำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ สามารถลดความเสียหายไม่ให้เกิดเป็นวงกว้างได้