

วันที่ 24 กันยายน 2565 ที่ห้องประชุมสำนักงานชลประทานที่12 จ.ชัยนาท ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างเพื่อรับมือสถานการณ์ฝนตกในช่วงวันที่ 27-29 ก.ย.65 นี้ โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานชลประทาน โครงการชลประทาน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมบรรยายสรุปการดำเนินงานและการเตรียมความพร้อมรับมือ
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน(24ก.ย.65) 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 15,626 ล้าน ลบ.ม. (63% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) สามารถรับน้ำได้อีก 9,245 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันที่สถานีวัดน้ำ c2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,980 ลบ.ม/วินาที โดยที่สถานีวัดน้ำ c13 เขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,989 ลบ.ม./วินาที
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า พายุดีเปรสชันบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกมีแนวโน้มทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนและจะเคลื่อนตัวผ่านประเทศฟิลิปปินส์และเคลื่อนลงสู่บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ในช่วงวันที่ 25 - 26 ก.ย. 65 และมีแนวโน้มจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ในช่วงวันที่ 27-28 ก.ย.65 ซึ่งจะส่งผลให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางของประเทศไทย มีฝนตกหนักถึงหนักมากในช่วงวันที่ 27-29 ก.ย.65 เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำที่เพิ่มขึ้น จึงได้สั่งการให้สำนักงานชลประทานในพื้นที่ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในการบริหารจัดการน้ำร่วมกันระหว่างพื้นที่ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเชื่อมโยงกันอย่างมีระบบ โดยจะใช้ระบบชลประทานทางตอนบนในการปรับการระบายน้ำออกทางซ้ายขวาของแม่น้ำเจ้าพระยาตามหลักวิชาการให้เหมาะสม โดยคำนึงถึง เวลา ปริมาณ และสถานที่เป็นหลัก เพื่อเพิ่มพื้นที่รับน้ำด้านเหนือเขื่อน และลดผลกระทบด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาให้ได้มากที่สุด รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องจักรมือ เครื่องสูบน้ำ ไว้ประจำพื้นเสี่ยงให้สามารถช่วยเข้าช่วยเหลือพื้นที่ได้ตลอดเวลา ตรวจสอบอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ หมั่นกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง พร้อมขอความร่วมมือหน่วยงานท้องถิ่นในการช่วยกันจัดเก็บผักตบชวาในคลองสาขาไม่ให้ไหลลงมายังแม่น้ำสายหลัก ตลอดจนร่วมกันประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่อง