ชป. จัดปฐมนิเทศโครงการฯ ปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว จ.กาฬสินธุ์

 

 
image-1
IMAGE-2
 
 
 
วันที่ 12 กรกฎาคม 2565 นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ร่วมประชุมปฐมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมี นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธานการประชุม และมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชน เกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ องค์กรภาคเอกชน และผู้ที่สนใจเข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน ณ ห้องประชุมชาร์ลอง โรงแรมชาร์-ลอง บูทรีค อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
 
สำหรับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว ลักษณะโครงการประกอบด้วยอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีที่ทำการตั้งอยู่หมู่ที่ 1 บ้านสะอาดนาทม ตำบลลำปาว อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ มีความจุเก็บกัก 1,980 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่ชลประทาน 316,500 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของอำเภอยางตลาด อำเภอกมลาไสย อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ และ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม โดยในปัจจุบันการบริหารจัดการน้ำของโครงการประสบปัญหาในด้านต่างๆ ได้แก่ ปัญหาน้ำท่วม โดยเฉพาะพื้นที่ตอนล่างของโครงการ บริเวณจุดบรรจบของลำน้ำสาขากับแม่น้ำชี มักประสบปัญหาน้ำท่วมล้นตลิ่งทั้งสองฝั่ง เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นที่ราบลุ่มและที่ราบริมแม่น้ำ ปัญหาน้ำแล้ง เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอซึ่งเกิดจากปริมาณฝนตกน้อยและฝนทิ้งช่วงนาน และปัญหาการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำ เนื่องจากในปัจจุบันมีการเพิ่มพื้นที่ชลประทานของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีกลาง และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีล่าง ประกอบกับมีสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าของท้องถิ่นที่สูบน้ำจากลำน้ำลำปาวและลำน้ำชีขึ้นมาใช้ในฤดูแล้ง ส่งผลให้ความต้องการน้ำในภาพรวมเพิ่มขึ้นมาจากความต้องการน้ำในเขตชลประทานเดิม อีกทั้งยังมีความต้องการปลูกข้าวของเกษตรกรในฤดูแล้งเพิ่มขึ้นเป็น 280,000-290,000 ไร่ หรือคิดเป็น 90% ของพื้นที่ชลประทานฤดูฝน ปัญหาการจัดการน้ำในเขตพื้นที่ชลประทาน ยกตัวอย่างเช่น เกษตรกรมีความต้องการปลูกข้าวในฤดูแล้งมากกว่าศักยภาพของระบบส่งน้ำตามที่ออกแบบไว้ สภาพคลองส่งน้ำและอาคารมีอายุการใช้งานมานาน มีการชำรุดสะสมจำนวนมาก ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการส่งน้ำและระบายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
 
โดยในการศึกษามีระยะเวลาดำเนินการ เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2565 ถึง 13 พฤศจิกายน 2566 และมีแนวทางการปรับปรุงเขื่อนลำปาว อาคารประกอบ คลองส่งน้ำ คลองระบายน้ำ ที่ได้ถูกใช้งานมานานกว่า 50 ปี ดังนี้
1) การปรับปรุงสิ่งก่อสร้าง เป็นการยกระดับระบบชลประทานในส่วนที่เป็นสิ่งก่อสร้างหรือโครงสร้างพื้นฐานให้สามารถตอบสนองความต้องการใช้งานในปัจจุบัน ด้วยการก่อสร้างใหม่หรือปรับปรุงอาคารเดิมเพื่อยืดอายุการใช้งานและเพื่อให้มีประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำได้ดีขึ้น
2) ปรับปรุงระบบการบริหารจัดการ อาทิ ดำเนินการปรับปรุงแนวทางและวิธีการจัดการน้ำต้นทุนให้แต่ละภาคส่วนอย่างเหมาะสม เป็นธรรม และสอดคล้องกับความต้องการทั้งในปัจจุบันและในอนาคตเพื่อลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการปรับปรุงวิธีการจัดการน้ำในฤดูฝนและฤดูแล้ง ให้สอดคล้องกับวิธีการทำการเกษตรในปัจจุบันที่มีเครื่องจักรเครื่องมือ และเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญคือการปรับปรุงวิธีการและรูปแบบการทำงานแบบมีส่วนร่วมเพื่อให้เกษตรกรเข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการน้ำมากขึ้น ทั้งในด้านการใช้น้ำ การบำรุงรักษา และการอนุรักษ์แหล่งน้ำต้นทุนให้มีความยั่งยืน