ชป.ติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำสอดคล้องสถานการณ์ เน้นน้ำอุปโภคบริโภคต้องเพียงพอ

 

 
image-1
IMAGE-2
 
 
 
 
วันที่ 27 มิ.ย.65 ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ(กทม.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่
 
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (27 มิ.ย.65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 41,345 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 54 ของความจุอ่างฯ ยังสามารถรับน้ำได้อีก 34,740 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 9,831 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 40 ของความจุอ่างฯ สามารถรับน้ำได้อีก 15,040 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมสถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ
 
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 27 -29 มิ.ย. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ในขณะที่มีลมใต้พัดปกคลุมภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก ทำให้ประเทศไทยยังมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่วนในช่วงวันที่ 30 มิ.ย. – 3ก.ค. 65 หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศลาวตอนบนและประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก จึงได้กำชับไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด บริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเกิดประโยชน์สูงสุด เน้นย้ำน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศต้องเพียงพอตลอดทั้งปี พร้อมจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือพร้อมให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด ที่สำคัญบูรณาการวางแผนบริหารจัดการน้ำร่วมกันให้เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ เพื่อการบริหารจัดการน้ำที่เป็นเอกภาพและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งปฏิบัติตาม 13 มาตรการ รับมือฤดูฝนปี 65 ตามที่ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด ตลอดจนทำการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำและแนวทางในการบริหารจัดการน้ำให้ประชาชนรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง