

วันที่ 17 มิถุนายน 2565 นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่กับนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะ เพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี ณ อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น
สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ ได้รายงานสรุปการติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เมื่อ 21 มิถุนายน 2564 โดยให้ปรับลดการขอใช้พื้นที่โครงการ จากเดิม 14,600 ไร่ เหลือ 11,982 ไร่ แบ่งเป็นเขตอุทยานฯ 6,191 ไร่ และเขตป่าสงวน 5,791 ไร่ โดยระยะเวลาดำเนินโครงการ 6 ปี (2567-2572) โดยในปี 2566 จะเริ่มดำเนินการเตรียมความพร้อมด้านการมีส่วนร่วม จัดหาที่ดิน และเริ่มก่อสร้างเขื่อนได้ในปี 2567-2570 และก่อสร้างระบบส่งน้ำในปี 2569-2572
ทั้งนี้ ปลัด ทส. ได้เสนอแนะ ถึงหลักการพัฒนา โดยให้คำนึงถึง แหล่งน้ำ พื้นที่ป่า และสัตว์ป่าให้สามารถคงอยู่ได้ ภายใต้ความเหมาะสม คุ้มค่า ลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม และขอให้กรมชลประทาน ประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ชัดเจน ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมถึงหาแนวทางการแก้ไขที่สามารถปฏิบัติได้จริง และให้บูรณาการร่วมกับจังหวัดและหัวหน้าอุทยานฯ เพื่อหารือและสำรวจพื้นที่โครงการร่วมกัน โดยให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนทุกภาคส่วน
สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดเป็น 1 ใน 4 โครงการ ในลำน้ำย่อยของลุ่มน้ำโตนด ซึ่งประกอบไปด้วย อ่างเก็บน้ำคลองประแกด อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว และอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด มีลักษณะเป็นเขื่อนดินแบบแบ่งโซน ยาว 3,000 เมตร พร้อมอาคารประกอบและระบบส่งน้ำ เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะสามารถเก็บกักน้ำได้ 99.50 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นแหล่งน้ำต้นทุนให้กับพื้นที่ชลประทานประมาณ 87,700 ไร่ เป็นแหล่งน้ำดิบสำรองสนับสนุนพื้นที่ EEC ได้ประมาณ 70 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือมากกว่าในกรณีปีที่มีน้ำมาก ที่สำคัญจะช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยบริเวณพื้นที่ตอนกลางและตอนล่างของลุ่มน้ำคลองวังโตนดได้ประมาณร้อยละ 65 เป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค ให้กับราษฎรในพื้นที่อำเภอแก่งหางแมว อำเภอนายายอาม และอำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี มีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปีอีกด้วย เสริมสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับประชาชนในพื้นที่ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต