

วันที่ 8 มิถุนายน 2565 ที่อาคารรัฐสภา พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ ประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนา “เหลียวหลัง แลหน้า วุฒิสภาเพื่อประชาชน : กลั่นกรอง ตรวจสอบ ปฏิรูป” เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้กลุ่มเป้าหมายได้มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สะท้อนปัญหา ข้อจำกัด อุปสรรคในการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ตลอดจนร่วมกันหาแนวทางในการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เกิดความยั่งยืน เนื่องในโอกาสครบรอบ 3 ปี ของวุฒิสภา ในการนี้ นายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีกรมชลประทาน ร่วมเป็นวิทยากรการสัมมนากลุ่มย่อย ในหัวข้อ “น้ำเพื่อประชาชน” เพื่อร่วมกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนภารกิจให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและประเทศชาติ
นายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ในห้วงปี 2558-2565 กรมชลประทาน ได้ดำเนินงานพัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน โดยมีพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้น 3,331,855 ไร่ มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 2,090.85 ล้าน ลบ.ม. มีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทานที่สำคัญ 12 โครงการ จำแนกเป็นรายภาคต่าง ๆ ดังนี้ ภาคเหนือตอนบน ได้แก่ โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันมีความคืบหน้าแล้วกว่าร้อยละ 68 เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จสามารถผันน้ำได้สูงสุด 160 ล้าน ลบ.ม./ปี และโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพะเยา มีความคืบหน้าร้อยละ 28 หากแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มการเก็บกักน้ำได้กว่า 90.50 ล้าน ลบ.ม.
ภาคอีสานตอนบน ได้แก่ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จังหวัดหนองคาย ปัจจุบันมีความคืบหน้า ร้อยละ 10 หากดำเนินโครงการแล้วเสร็จ จะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดหนองคายและอุดรธานี จะเพิ่มพื้นที่ชลประทานในฤดูฝนได้ 5,439 ไร่ และเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนมากถึง 245.87 ล้าน ลบ.ม. ทั้งยังเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้กว่า 3 แสนไร่ และโครงการประตูระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ปัจจุบันมีความคืบหน้าร้อยละ 36 หากดำเนินโครงการแล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มพื้นที่ชลประทานในฤดูฝน 72,500 ไร่ และฤดูแล้งอีก 18,100 ไร่
ภาคอีสานตอนล่าง ได้แก่ โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ (ระยะที่ 1) ปัจจุบันมีความคืบหน้า ร้อยละ 15 หากแล้วเสร็จจะสามารถส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกในฤดูฝน 18,610 ไร่ ฤดูแล้ง 1,850 ไร่ ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองชัยภูมิได้เป็นอย่างมาก โครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดชัยภูมิ ปัจจุบันมีคืบหน้ากว่าร้อยละ 48 หากแล้วเสร็จจะช่วยพัฒนาพื้นที่ชลประทานได้ 40,000 ไร่ เพาะปลูกพืชฤดูแล้งได้ 8,000 ไร่ เป็นแหล่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค 4.20 ล้าน ลบ.ม./ปี น้ำเพื่อการเกษตร 95.33 ล้าน ลบ.ม. และรักษาระบบนิเวศ 17.04 ล้าน ลบ.ม. และ โครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดชัยภูมิ ปัจจุบันคืบหน้าร้อยละ 22 หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะเป็นแหล่งน้ำสนับสนุนสถานีสูบน้ำตามลำน้ำชีพื้นที่รับประโยชน์ถึง 75,000 ไร่ ฤดูแล้ง 30,000 ไร่
ภาคกลาง ได้แก่ โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล - บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีความคืบหน้าร้อยละ 24 หากแล้วเสร็จจะช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ตัวเมืองพระนครศรีอยุธยาและพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่างได้เฉลี่ย กว่า 1.9-2.5 ล้านไร่/ปี และ โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอบางสะพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ปัจจุบันคืบหน้าร้อยละ 25 หากแล้วเสร็จจะสามารถระบายน้ำได้ 1,025 ลบ.ม./วินาที พื้นที่น้ำท่วมลดลง 4,894 ไร่
ภาคใต้ ได้แก่ โครงการระบบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง จังหวัดตรัง มีคืบหน้าแล้วกว่าร้อยละ 96 สามารถระบายน้ำได้ 750 ลบ.ม./วินาที เก็บกักน้ำสำรองในช่วงฤดูแล้งได้ประมาณ 3.2 ล้าน ลบ.ม. แล้วยังสนับสนุนพื้นที่เกษตรกรรมได้อีกประมาณ 5,000 ไร่ โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ (ระยะที่ 2) อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีคืบหน้าแล้วกว่าร้อยละ 94 หากแล้วเสร็จจะช่วยระบายน้ำได้ 1,200 ลบ.ม./วินาที แล้วยังเป็นแหล่งน้ำสำรองในช่วงฤดูแล้งประมาณ 5.00 ล้าน ลบ.ม. และโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราช มีความคืบหน้าร้อยละ 15 หากแล้วเสร็จจะช่วยบรรเทาอุทกภัยและใช้ในฤดูแล้ง 5.5 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 17,400 ไร่
ทั้งนี้ ในการสัมมนาดังกล่าวได้ระดมความคิดเห็นจากหน่วยงาน ผู้นำท้องถิ่น และประชาชน ร่วมกันเสนอแนวคิดในการแก้ไขปัญหาอันเกิดจากน้ำ ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเสีย และการบริหารจัดการน้ำ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน