

วันที่ 12 เมษายน 2565 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมสรุปผลการศึกษาโครงการศึกษาวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลแนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก โดยมี นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ นายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีฝ่ายก่อสร้าง พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษาโครงการฯ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบ Video Conference ณ ห้องประชุมธารทิพย์ 01 อาคาร 99 ปี ม.ล.ชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน กรุงเทพมหานคร
การประชุมในวันนี้ ที่ประชุมได้รับทราบ 5 ประเด็นหลักในการพิจารณาโครงการฯ ได้แก่ 1.องค์ประกอบของโครงการ ผลประโยชน์ และความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2.รูปแบบการลงทุน มูลค่าการลงทุน อัตราค่าผันน้ำ และแผนการดำเนินงาน 3.มาตรการสนับสนุนและการบริหารจัดการความเสี่ยง 4.การประชาสัมพันธ์ การมีส่วนร่วม และการทดสอบความสนใจของเอกชนที่จะร่วมลงทุน 5.ขั้นตอนการขออนุมัติโครงการฯ โดยมีแนวทางลงทุนที่เหมาะสม 3 ลำดับ คือ 1.การดำเนินการรูปแบบการลงทุนกรณีรัฐดำเนินการเองทั้งหมด 2.เอกชนจัดหาแหล่งเงินทุนและลงทุนออกแบบ/ก่อสร้าง รัฐดำเนินงานและบำรุงรักษา 3.การให้เอกชนร่วมลงทุนออกแบบก่อสร้างและบริหารจัดการโครงการทั้งหมดในรูปแบบ Gross Cost PPP (Public Private Partnership) ที่ประชุมได้เสนอแนะให้ที่ปรึกษาโครงการฯ พิจารณาทบทวนข้อมูลเพิ่มเติม รวมไปถึงกรอบระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูล สามารถนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจในการดำเนินโครงการฯ ขั้นต่อไปได้อย่างเหมาะสม
สำหรับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล เป็นโครงการที่กรมชลประทาน ได้ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาในอนาคต อีก 20 ปีข้างหน้า รวมทั้งตอบสนองการใช้น้ำของภาคการเกษตร การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ การอุปโภคบริโภค การอุตสาหกรรม และรักษาระบบนิเวศ เนื่องจากลุ่มน้ำยวมในช่วงฤดูฝน จะมีปริมาณน้ำส่วนเกินจำนวนมาก ที่จะสามารถผันน้ำดังกล่าวมาเพิ่มความมั่นคงให้กับเขื่อนภูมิพล ที่ยังสามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มอีกเป็นปริมาณมาก ซึ่งจะช่วยลดปัญหาภัยแล้ง และเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวมทั้งช่วยสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้ในระยะยาวอีกด้วย
ข่าว : ภูมิใจ
ภาพ : สมิต