พล.อ.ประวิตรฯ ลงพื้นที่ติดตามงานพัฒนาบึงบอระเพ็ด แก้ท่วม-แล้งอย่างยั่งยืน

 

 
image-1
IMAGE-2
 
 
 
 
 
 
 
วันที่ 12 พ.ย. 64 ที่ศาลากลางจังหวัดนครสวรรค์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จ.นครสวรรค์ โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่พร้อมบรรยายสรุปผลการดำเนินงาน
 
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า พื้นที่ จ.นครสวรรค์ มีแม่น้ำสำคัญไหลผ่านทั้งหมด 4 สาย คือ แม่น้ำปิง แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน ไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา มีลุ่มน้ำสาขา 2 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำสาขาบึงบอระเพ็ด พื้นที่ประมาณ 4,300 ตารางกิโลเมตร(ตร.กม.) และลุ่มน้ำสาขาที่ราบแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่ประมาณ 15,800 ตร.กม. ครอบคลุมพื้นที่ชลประทานทั้งหมด 5.96 ล้านไร่
 
กรมชลประทาน ได้ร่วมกับหลายหน่วยงานดำเนินโครงการพัฒนาบึงบอระเพ็ด ที่ปัจจุบันมีสภาพตื้นเขินเก็บกักน้ำได้ในปริมาณน้อย ทำให้ในช่วงฤดูแล้งราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รอบบึงบอระเพ็ดมักจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ กรมชลประทาน ได้วางแนวทางในการบริหารจัดการน้ำตามแผนการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด โดยการผันน้ำจากแม่น้ำน่านผ่านทางคลองบางปอง และคลองบอระเพ็ดไปเก็บกักไว้ในบึงบอระเพ็ด เป็นการบรรเทาอุทกภัยในช่วงฤดูน้ำหลาก และเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งตามแผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด กรมชลประทานมีกิจกรรมงานที่ต้องดำเนินการตามแผน 4 กิจกรรม ได้แก่ การขุดบึงบอระเพ็ด Deep Pool 4 แห่ง การขุดลอกตะกอนดินและการขุดคลองดักตะกอนตามแนวขอบบึงบอระเพ็ด และโครงการติดตั้งเครื่องวัดน้ำท่า 11 สถานี ปัจจุบันมีผลงานความก้าวหน้าไปแล้วประมาณร้อยละ 12 คาดว่าจะแล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ภายในปี 2568
 
ในการนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญในการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนได้รับทราบถึงการดำเนินงานในด้านต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้ทราบถึงความก้าวหน้าของโครงการฯ พร้อมทั้งเร่งรัดการพัฒนาบึงบอระเพ็ดให้แล้วเสร็จตามแผน เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์โดยเร็ว รวมทั้งได้มอบหมายให้กรมชลประทานดำเนินการสำรวจและออกแบบโครงการที่จะสามารถบรรเทาปัญหาอุทกภัย และเก็บกักน้ำสำรองไว้ใช้เป็นน้ำต้นทุนให้กับประชาชนในพื้นที่อื่นๆด้วย