

กรมชลประทาน รับ 1 รางวัล Best of the best สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทรางวัลสัมฤทธิผลประชาชน มีส่วนร่วม และ 2 รางวัลระดับดี สาขาการบริการภาครัฐ ประเภทนวัตกรรมบริการ และประเภทบูรณาการข้อมูลเพื่อการบริการ พร้อม 1 รางวัล สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทผู้นำหุ้นส่วนความร่วมมือ จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) บทพิสูจน์แห่งการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการทำงานแบบบูรณาการเพื่อประชาชน
วันที่ 16 ก.ย.64 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ นายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีฝ่ายก่อสร้าง นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข รองอธิบดีฝ่ายบริหาร นายธนา สุวัฑฒน ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา นายโสภิญญา เกิดสกุล ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน และประธานกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานฯ เข้าร่วมพิธีรับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี พ.ศ.2564 ในรูปแบบออนไลน์ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ Video Conference (Zoom Meeting) จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ที่มอบให้กับหน่วยงานที่มีผลการดำเนินงานเป็นเลิศทั้งในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการภาครัฐ การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภายในองค์กร และการเปิดโอกาสให้ภาคส่วนอื่นเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการ ซึ่งในปีนี้กรมชลประทานคว้ารางวัลมาได้ถึง 4 รางวัล โดยมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธาน ซึ่งผลงานที่กรมชลประทานได้รับ มีดังนี้
1. รางวัลเลิศรัฐ (Best of the best) สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทรางวัลสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม ได้แก่ ผลงานโครงการผันน้ำแบบชุมชนมีส่วนร่วมในทุ่งหน่วงน้ำบางระกำ ซึ่งเป็นรางวัลที่มีการดำเนินการหรือโครงการในระดับความร่วมมือ (Collaborate) และสร้างแนวปฏิบัติที่ดี จนพัฒนาเป็นต้นแบบที่กระตุ้นและส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนและภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการ นับเป็นบทพิสูจน์แห่งความสำเร็จแห่งปีในการทุ่มเทการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมที่ส่งผลให้กรมชลประทานได้รับรางวัลในสาขานี้ ทั้งระดับดีเด่นและระดับดีมาอย่างต่อเนื่อง
2. รางวัลสาขาบริการภาครัฐ ระดับดี ประเภทนวัตกรรมบริการ ได้แก่ ผลงานสารควบคุมกำจัดผักตบชวาในทางน้ำ เป็นผลงานที่สำนักวิจัยและพัฒนา กรมชลประทานได้ทำการศึกษาวิจัยหาวิธีดำเนินการควบคุมกำจัดผักตบชวาโดยการใช้สารกำจัดวัชพืชชีวภาพ (bio herbicide) ที่นำมาใช้ควบคุมการระบาดของผักตบชวาในพื้นที่ชลประทานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัดค่าใช้จ่าย และปลอดภัยต่อสภาพแวดล้อม
3. รางวัลสาขาบริการภาครัฐ ระดับดี ประเภทบูรณาการข้อมูลเพื่อการบริการ ได้แก่ ผลงานระบบบูรณาการข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการน้ำ โดยเป็นการบูรณาการข้อมูลด้านการบริหารจัดการน้ำร่วมกันระหว่างกรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมอุตุนิยมวิทยา และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
4. รางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทผู้นำหุ้นส่วนความร่วมมือ ระดับเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ได้แก่ผลงาน “โครงการผันน้ำแบบชุมชนมีส่วนร่วมในทุ่งหน่วงน้ำบางระกำ” โดย นายสมศักดิ์ บ่องเขาย้อย ประธานกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานประตูระบายน้ำบางแก้ว 3 อาชีพเกษตรกร ตำบลท่างาม อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างผู้นำชุมชนกับกรมชลประทาน โดยใช้พื้นที่ลุ่มต่ำซึ่งเป็นพื้นที่นาที่อยู่ระหว่างลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่านในเขตจังหวัดสุโขทัยและจังหวัดพิษณุโลกเป็นพื้นที่รองรับน้ำหลากเพื่อป้องกันและบรรเทาอุทกภัยที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งโครงการฯ สามารถบรรเทาผลกระทบจากอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ รางวัลเลิศรัฐ ถือเป็นรางวัลแห่งความภาคภูมิใจของกรมชลประทาน ที่แสดงให้เห็นถึงการดำเนินการขับเคลื่อนสู่องค์กรอัจฉริยะ ภายใต้แนวคิด “RID TEAM” แนวคิดที่มุ่งมั่นร่วมกันพัฒนากรมชลประทานให้เป็นองค์กรที่ดีไปด้วยกัน เพื่อให้ภารกิจงานชลประทานบรรลุตามเป้าหมาย และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกรและประชาชนอย่างยั่งยืน