

วันที่ 2 กรกฎาคม 2564 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยนายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ (คชก.) ครั้งที่ 19/2564 โดย นายสันติ บุญประคับ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุม 1003 ชั้น 10 อาคารทิปโก้ โดยมีการถ่ายทอดการประชุมผ่านระบบ Video Conference มายังห้องประชุมกรม ชั้น 3 อาคารอำนวยการ กรมชลประทาน ถนนสามเสนด้วย
การประชุมในครั้งนี้ เป็นการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ซึ่งมีพื้นที่ในการดำเนินโครงการอยู่ในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 มีพื้นที่ชลประทานเกิน 80,000 ไร่ ผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ และอยู่ในป่าโซน C มากกว่า 500 ไร่ เข้าข่ายต้องจัดทำรายงาน EIA ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติให้ข้อเสนอแนะปรับปรุงรายงานตามความเห็นของ คชก. ให้ครบสมบูรณ์ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาในขั้นตอนต่อไป
ในการนี้ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดทำโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บเขื่อนภูมิพล เนื่องจากเห็นว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์เป็นอย่างมาก เนื่องจากสภาพแวดล้อม และสภาพสังคมในปัจจุบัน มีความต้องการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งภาคประชาชน อุตสาหกรรม เกษตรกรรม และภาคบริการที่มีการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งโครงการฯนี้จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลได้มากขึ้น ช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งและในภาวะฝนทิ้งช่วง ซึ่งกรมชลประทานได้วางแนวทางในการแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศต่าง ๆ ไว้แล้วตามข้อเสนอแนะของคณะ คชก. ที่ครอบคลุมในทุกด้าน เพื่อให้การดำเนินการต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดตาก จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่รับประโยชน์ในเขตโครงการชลประทานตามแนวแม่น้ำปิงตอนล่าง 286,782 ไร่ มีพื้นที่ชลประทานประมาณ 1.6 ล้านไร่ คาดว่าจะได้รับการจัดสรรน้ำประมาณ 1,495 ล้าน ลบ.ม./ปี โดยเฉพาะพื้นที่ชลประทานในเขตโครงการเจ้าพระยาใหญ่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการเพิ่มน้ำต้นทุนในเขื่อนภูมิพลประมาณ 1,323,244 ไร่