ชป.ระดมเครื่องจักรเครื่องมือเข้าพื้นที่ ช่วยชาวบ้านหมี่ จ.ลพบุรี

 

 
image-1
IMAGE-2
 
 
 
 
 
 
 
รัฐบาลห่วงใยประชาชน สั่งทุกหน่วยงานเร่งหาแนวทางแก้ไขสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดลพบุรี โดยเฉพาะในเขตลุ่มน้ำบางขาม อำเภอบ้านหมี่ ตลอดทั้งลำน้ำระยะทางกว่า 25 กิโลเมตร ไม่มีน้ำไหลผ่านมากว่า 1 เดือนแล้ว ทำให้ปริมาณน้ำดิบไม่เพียงพอสำหรับผลิตประปา
 
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงทำให้ประเทศไทยโดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลางเกิดฝนทิ้งช่วง ซึ่งในช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนที่ผ่านมาพบว่ามีปริมาณฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึง 37% กรมชลประทาน จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่พบปะผู้นำชุมชนและเกษตรกรผู้ใช้น้ำในพื้นที่ เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางแก้วิกฤติน้ำแล้ง ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว โดยเบื้องต้นสำนักงานชลประทานที่ 10 และสำนักเครื่องจักรกล เร่งดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 8 นิ้ว 2 เครื่อง ที่ปากคลองส่งน้ำ 13 ขวา ช่วยเหลือประปา หมู่ 1หมู่ 2 ตำบลมหาสอน และประปา หมู่ 3 ตำบลสนามแจง และติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 3 เครื่อง ที่ปากคลอง Waste Way บ้านกล้วย เพื่อเร่งสูบทอยน้ำจาก คลองชัยนาท – ป่าสัก เติมแม่น้ำบางขาม พร้อมทั้งกำหนดรอบเวร หลังสูบน้ำเข้าสู่แม่น้ำบางขามแล้ว เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรนาข้าว ในพื้นที่ 4 ตำบล (ตำบลมหาสอน บางพึ่ง บ้านชี และบางขาม) รวมประมาณ 30,000 ไร่
 
นอกจากนี้ยังเร่งดำเนินโครงการขุดลอกแม่น้ำบางขาม เพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว โดยระยะที่ 1 ความยาว 14 กโลเมตร กว้าง 40 เมตร ลึก 3 เมตร พร้อมแก้มลิง 3 แห่ง ขณะนี้ได้จัดทำแบบขุดลอกและประมาณราคาเรียบร้อยแล้ว หากได้รับงบประมาณ สามารถดำเนินการได้ทันที เมื่อขุดลอกแล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำในแม่น้ำบางขาม ได้กว่า 2,000,000 ลูกบาศก์เมตร
 
อนึ่ง กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำตามมาตรการที่วางไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีน้ำอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ ตลอดจนน้ำเพื่อการเกษตรอย่างเพียงพอตามแผนการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 64 ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยทำการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ ตลอดจนการจัดสรรน้ำแบบรอบเวรให้กับเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ต่างๆ รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน
 
ในการนี้ กรมชลประทาน ได้รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับ โครงการ กิจการหรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อ ทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง (EHIA) พร้อมรายการความก้าวหน้า จำนวน 1 โครงการ คือ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี ด้วยการนำเสนอแผนแก้ไขปัญหาและผลกระทบจากการดำเนินโครงการทั้ง 3 ด้านคือ ทางด้านป่าไม้และสัตว์ป่า การจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและแผนติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIMP) เพิ่มเติม สำหรับผลกระทบต่อถนนขึ้นอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น การก่อสร้างถนนทดแทนที่ถูกน้ำท่วมจากบ้านโป่งเกตุ ลัดเลาะตามพื้นที่ขอบอ่างฯ ให้บรรจบกับแนวถนนทางหลวงชนบท จบ.4012 คิดเป็นระยะทางประมาณ 5.60 กม. เพื่อใช้เป็นเส้นทางสัญจรทดแทนถนนที่ถูกน้ำท่วม ส่วนผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ 580 ครัวเรือน กรมชลประทานได้วางแผนเยียวยาเพิ่มเติม อาทิ การส่งเสริมอาชีพ ส่งเสริมการเกษตร และโครงการบ้านมั่นคงชนบท เป็นต้น
ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้ให้ข้อเสนอแนะและให้กรมชลประทาน ดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งนำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ ไปดำเนินการให้ครบถ้วนก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
 
อนึ่ง โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับการอุปโภคบริโภคให้กับประชาชนได้กว่า 88,800 คน ครอบคลุม 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอท่าใหม่ อำเภอนายายอาม และอำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี คิดเป็น 4,116 ครัวเรือน และเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ประมาณ 87,700 ไร่ รวมไปถึงเป็นแหล่งน้ำสำรองสำหรับการท่องเที่ยว และรองรับแผนยุทธศาสตร์โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้กว่า 70 ล้าน ลบ.ม./ปี และยังสามารถชะลอน้ำหลาก และบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองวังโตนด ตลอดจนรักษาระบบนิเวศและผลักดันน้ำเค็มในช่วงฤดูแล้งได้อีกด้วย