อธิบดีกรมชลประทาน เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ครั้งที่ 3/2564

 

 
image-1
IMAGE-2
 
 
 
 
 
 
 
วันที่ 21 มิถุนายน 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน และนายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ครั้งที่ 3/2564 เพื่อรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการกิจการ หรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างรุนแรง โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม
 
ในการนี้ กรมชลประทาน ได้รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับ โครงการ กิจการหรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อ ทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง (EHIA) พร้อมรายการความก้าวหน้า จำนวน 1 โครงการ คือ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี ด้วยการนำเสนอแผนแก้ไขปัญหาและผลกระทบจากการดำเนินโครงการทั้ง 3 ด้านคือ ทางด้านป่าไม้และสัตว์ป่า การจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและแผนติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIMP) เพิ่มเติม สำหรับผลกระทบต่อถนนขึ้นอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น การก่อสร้างถนนทดแทนที่ถูกน้ำท่วมจากบ้านโป่งเกตุ ลัดเลาะตามพื้นที่ขอบอ่างฯ ให้บรรจบกับแนวถนนทางหลวงชนบท จบ.4012 คิดเป็นระยะทางประมาณ 5.60 กม. เพื่อใช้เป็นเส้นทางสัญจรทดแทนถนนที่ถูกน้ำท่วม ส่วนผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ 580 ครัวเรือน กรมชลประทานได้วางแผนเยียวยาเพิ่มเติม อาทิ การส่งเสริมอาชีพ ส่งเสริมการเกษตร และโครงการบ้านมั่นคงชนบท เป็นต้น
ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้ให้ข้อเสนอแนะและให้กรมชลประทาน ดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งนำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ ไปดำเนินการให้ครบถ้วนก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
 
อนึ่ง โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับการอุปโภคบริโภคให้กับประชาชนได้กว่า 88,800 คน ครอบคลุม 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอท่าใหม่ อำเภอนายายอาม และอำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี คิดเป็น 4,116 ครัวเรือน และเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ประมาณ 87,700 ไร่ รวมไปถึงเป็นแหล่งน้ำสำรองสำหรับการท่องเที่ยว และรองรับแผนยุทธศาสตร์โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้กว่า 70 ล้าน ลบ.ม./ปี และยังสามารถชะลอน้ำหลาก และบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองวังโตนด ตลอดจนรักษาระบบนิเวศและผลักดันน้ำเค็มในช่วงฤดูแล้งได้อีกด้วย