รองอธิบดีกรมชลฯ ลงพื้นที่ติดตามงานพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบูรณ์

 

 
image-1
image-2
 

 

 
รองอธิบดีกรมชลประทาน นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ดูงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ หวังเพิ่มการเก็บกักน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้จังหวัดเพชรบูรณ์มีน้ำต้นทุนใช้สำหรับการเกษตรและอุปโภคบริโภคเพิ่มมากขึ้น
 
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จังหวัดเพชรบูรณ์มีภูมิประเทศแนวยาว ลักษณะคล้ายปากนก มีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยกว่า 2000 ล้าน ลบ.ม. มีความต้องการใช้น้ำปีละกว่า 800 ล้าน ลบ.ม. และคาดว่าในอนาคตจะเพิ่มเป็น 1,000 ล้าน ลบ.ม. แต่ปัจจุบันพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์สามารถพัฒนาแหล่งน้ำและเก็บกักน้ำได้เพียง 223 ล้าน ลบ.ม. โดยอ่างเก็บน้ำห้วยป่าแดง และอ่างเก็บน้ำห้วยป่าเลา เป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อช่วยส่งน้ำเพื่อการเกษตร และการประปา ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ
 
กรมชลประทานได้มีแผนพัฒนาโครงการอ่างเก็บน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริในลุ่มน้ำป่าสัก เนื่องจากลำน้ำสาขาในลุ่มน้ำป่าสักมีปริมาณมากแต่เขื่อนป่าสักมีศักยภาพรับน้ำได้ไม่มากพอ สำนักบริหารโครงการจึงทบทวนศึกษาแผนงานโครงการที่มีศักยภาพในการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำป่าสัก พบว่าสามารถทำได้ถึงจำนวน 19 โครงการ โดยในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ได้เลือก 3 โครงการเพื่อศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ได้แก่ โครงการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำน้ำทิน อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ โครงการประเมิณผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำนางั่ว อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ โครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมิณผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำห้วยสะดวงใหญ่ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์
 
“สิ่งสำคัญของการทำการศึกษาผลกระทบ คือการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ กรมชลประทานตระหนักเป็นอย่างมากในการทำการศึกษาผลกระทบในทุกด้าน ทั้งวิถีชีวิตดั้งเดิม ระบบนิเวศของป่า สัตว์ป่า และแหล่งน้ำ โดยการจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายทั้งผู้ได้รับผลกระทบและผู้ที่มีส่วนได้รับประโยชน์จากโครงการ รวมไปถึงความคุ้มค่าของงบประมาณ การลงพื้นที่ในครั้งนี้ทำให้เห็นว่าการพัฒนาแหล่งน้ำของกรมชลประทานเพื่อให้ให้ตรงกับเป้าหมาย สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำ รองรับสังคมเมืองที่กำลังเติบโต รวมถึงการท่องเที่ยว เพื่อการวางระบบการบริหารจัดการน้ำได้อย่างทั่วถึง” นายเฉลิมเกียรติกล่าว
นอกจากนี้ รองอธิบดีฯและคณะยังได้นำสื่อมวลชนเดินทางไปดูที่ตั้งหัวงานอ่างเก็บน้ำน้ำทิน ซึ่งตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 8 บ้านเขาขาด ตำบลตะเบาะ อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ เพื่อพบปะผู้นำท้องถิ่นและตัวแทนเกษตรกรในพื้นที่ ที่ต้องการให้มีโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำทิน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำเพื่อทำการเกษตรและการอุปโภค-บริโภคในช่วงฤดูแล้ง ผลผลิตทางการเสียหายจากอุทกภัย ทั้งนี้ หากโครงการฯสำเร็จแล้วจะสามารถเก็บกักน้ำได้ 15.68 ล้าน.ลบ.ม. เป็นแหล่งน้ำต้นทุเพื่อส่งน้ำให้กับ 13 หมู่บ้าน ของตำบลตะเบาะ และตำบลน้ำร้อน อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ และเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 9,850 ไร่ รวม 10,050 ไร่ และยังสามารถบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง และลดผลกระทบจากอุทกภัยในฤดูน้ำหลากได้ด้วย
 
กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
15 มิถุนายน 2564