อธิบดี ชป. ร่วมประชุมคณะกรรมาธิการฯ ปฏิรูปประเทศ

 

 
image-1
image-2
 

 

 
วันที่ 26 มีนาคม 2564 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำ และดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ วุฒิสภา โดยมี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมฯ
 
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ เพื่อติดตามผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ผ่านมา พร้อมติดตามผลการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งในส่วนของกรมชลประทาน ได้ดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับเดิม) ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี พ.ศ. 2563 อาทิ การบริหารจัดการแหล่งน้ำอย่างเป็นระบบและเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำ การป้องกันและบรรเทาอุทกภัย การเพิ่มพื้นที่ชลประทาน พร้อมขยายพื้นที่ชลประทานให้เกษตรกรมีน้ำใช้สำหรับการผลิตสินค้าเกษตรอย่างเหมาะสมเพียงพอ ทั่วถึง และเป็นธรรม รวมทั้งส่งเสริมพัฒนาเกษตรกรในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัด รู้คุณค่าและมีประสิทธิภาพ
 
ในการนี้ อธิบดีกรมชลประทาน ได้รายงานสถานการณ์น้ำปี พ.ศ. 2564 เมื่อเปรียบเทียบน้ำในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก รวมทั้งลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำมากกว่าปี พ.ศ. 2563 แต่ในขณะเดียวกัน ปริมาณน้ำในภาคตะวันตกน้อยกว่าปริมาณน้ำ เมื่อปี พ.ศ. 2563 ประมาณ 3 พันล้านลูกบากศ์เมตร ดังนั้นกรมชลประทานจึงได้มีการวางแผนบริหารจัดการน้ำสำหรับจัดสรรน้ำให้เพียงพอทั้ง 5 กิจกรรมหลัก ได้แก่ การจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค ในช่วงฤดูแล้ง การจัดสรรน้ำเพื่อการรักษาระบบนิเวศในช่วงฤดูแล้ง การสำรองน้ำสำหรับการใช้น้ำในช่วงต้นฤดูฝนเพื่ออุปโภค-บริโภคและรักษาระบบนิเวศเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2564 การจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรกรรม รวมถึง การจัดสรรน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม
 
ทั้งนี้ กรมชลประทานมีแผนสำรองน้ำเพื่อป้องกันการขาดแคลนน้ำในช่วงฝนทิ้งช่วง โดยเร่งเก็บน้ำช่วงเดือนพฤษภาคม ถึง เดือนกรกฎาคม 2564 โดยเป็นน้ำสำหรับอุปโภค บริโภค และรักษาระบบนิเวศ ด้านมาตรการรองรับภัยแล้ง กรมชลประทานได้วางแผนในการเร่งเก็บน้ำก่อนสิ้นฤดูฝน ทั้งในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง เพื่อรองรับการใช้น้ำสำหรับการอุปโภค บริโภค การรักษาระบบนิเวศ และเกษตรยืนต้น โดยมาตรการนี้เป็นมาตรการรับมือกับช่วงน้ำน้อยเช่นเดียวกับเมื่อปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา สำหรับพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ กรมชลประทานได้มีการจัดสรร บุคลากร เครื่องจักร เครื่องมือ อาทิ รถขนน้ำ รถขุด รถแบ็คโฮ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ได้ทันทีเมื่อมีการร้องขอ
 
โดยในการประชุมครั้งนี้ พลเอก สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง ในฐานประธานคณะกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ (ตสร.) ได้กล่าวชื่นชมการปฏิบัติงานของกรมชลประทานที่ได้มีการลงพื้นที่ทุกครั้งเพื่อให้ข้อมูลในระหว่างที่ทางสมาชิกวุฒิสภาลงพื้นที่พบประชาชน อีกด้วย