

กรมชลประทาน ร่วมขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ 5 โครงการ มุ่งสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนอย่างเต็มศักยภาพ หวังสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนให้มากที่สุด
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมประชุม คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) (นัดพิเศษ) โดยมี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมี ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ผ่านระบบ VDO Conference ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ในที่ประชุม กนช.ได้พิจารณาเห็นชอบให้หน่วยงานดำเนินการโครงการขนาดใหญ่ 5 โครงการ ที่มีความพร้อมขอเสนอตั้งงบประมาณปี 2565 โดยเป็นโครงการของกรุงเทพมหานคร 4 โครงการ ได้แก่ โครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. (สมอยึดด้านหลัง) คลองบางไผ่ จากบริเวณคลองพระยาราชมนตรีถึงบริเวณสุดเขต กทม. ,โครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. พร้อมระบบรวบรวมน้ำเสียคลองแสนแสบจากบริเวณประตูระบายน้ำมีนบุรีถึงบริเวณประตูระบายน้ำหนองจอก ,โครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. คลองบางนาจากคลองเคล็ดถึงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา และโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อจากถนนรัชดาภิเษกถึงคลองลาดพร้าว ซึ่งทั้ง 4 โครงการ มีความสอดคล้องกับแผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ตามนโยบายรัฐบาลที่มุ่งสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ฯ ได้เสนอความเห็นให้กรมชลประทาน เร่งดำเนินการปรับปรุงคลองสนามชัย-มหาชัย รวมถึงคันป้องกันตลิ่งที่ได้มีการศึกษาไว้แล้ว เพื่อเชื่อมโยงกับระบบระบายน้ำที่กรุงเทพมหานครได้วางแผนไว้
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาเห็นชอบโครงการสถานีสูบน้ำดิบพร้อมระบบท่อส่งน้ำ เพื่อรองรับการพัฒนาเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อพัฒนาเมืองต้นแบบภายใต้โมเดล “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” สามารถส่งน้ำไปยังพื้นที่ 4 อำเภอ ของจังหวัดปัตตานี ได้แก่ อำเภอหนองจิก อำเภอโคกโพธ์ อำเภอแม่ลาน และอำเภอเมืองปัตตานี โดยอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ฯ ได้ให้กรมชลประทาน และองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี จัดทำแผนการจัดสรรน้ำให้ชัดเจน เพื่อให้มีปริมาณน้ำที่เพียงพอ ทั้งนี้ ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรด้านน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เสนอแผนฯดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา หากผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรีแล้ว กรมชลประทานจะดำเนินการในส่วนที่ได้รับมอบหมาย เพื่อเร่งพัฒนาและวางแผนในการบริหารจัดการน้ำ อันจะสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนในระยะต่อไป