ผู้บริหารกรมชลประทานร่วมงาน "วันชูชาติ " ปี 2564 เพื่อระลึกถึงหม่อมหลวงชูชาติ กำภู "บิดาแห่งชลกร"

 

 
image-1
image-2
 

 

 
 
เช้าวันที่ 4 มกราคม 2564 เวลา 07.30 ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารของกรมชลประทาน และผู้แทนศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบันจากคณะวิศวกรรมการชลประทาน ร่วมวางแจกันสักการะอนุสาวรีย์ หม่อมหลวงชูชาติ กำภู เพื่อแสดงความเคารพเนื่องใน "วันชูชาติ" ประจำปี 2564 ณ ลานหน้าอนุเสาวรีย์หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
 
สำหรับ "วันชูชาติ" จัดขึ้นเพื่อเป็นการระลึกถึง หม่อมหลวงชูชาติ กำภู ที่ได้สร้างคุณงามความดีไว้ให้กับเจ้าหน้าที่กรมชลประทานรุ่นหลังได้ระลึกและเป็นแบบอย่าง โดยได้กำหนดให้วันที่ 4 มกราคมของทุกปี เป็นวันชูชาติ ซึ่งในทุกปีจะมีกิจกรรมต่างๆ เช่น พิธีสงฆ์ การประชุมใหญ่สามัญประจำปีสมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมชลประทาน และการพบปะกันสำหรับศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน สำหรับในปี 2564 พิธีวางแจกันสักการะ ถูกจัดขึ้นอย่างเรียบง่าย ลดจำนวนผู้ร่วมงานไม่ให้เกิดความหนาแน่นของประชากรในพื้นที่ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19 ของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) (ศบค.)
 
อนึ่ง หม่อมหลวงชูชาติ กำภู เกิดเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2448 ตำบลประตูสามยอด อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร เป็นบุตรคนโตของพลตรีพระยาสุรเสนา (หม่อมราชวงศ์ชิต กำภู) และคุณหญิงผอบ สุรเสนา ได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ มีน้องชาย หญิงร่วมบิดามารดา 12 คน ท่านได้รับพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมชลประทานคนที่ 12 เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2492 ท่านได้วางรากฐานและแผนงานด้านการชลประทานที่สำคัญเพื่อพัฒนาประเทศไว้มากมาย นอกจากนี้ยังได้รับงานชลประทานราษฎร์ประเภทเหมืองฝายมาดำเนินการเอง จนทำให้มีการก่อสร้างเหมืองฝายจำนวนมาก รวมทั้งยังบุกเบิกงานสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและบรรเทาอุทกภัย ได้แก่ โครงการชลประทานเจ้าพระยาใหญ่ โครงการยันฮี ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ว่า "เขื่อนภูมิพล" ทำให้กรมชลประทานเข้าสู่ยุคของการพัฒนาแบบพึ่งพาตนเอง เนื่องจากท่านเป็นผู้วางรากฐานการพัฒนากำลังคน ให้มีความสามารถ และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนางานชลประทานให้ก้าวไกล ทัดเทียมกับอารยประเทศ ท่านได้อุทิศเวลาการทำงานจนสามารถสร้างผลงานด้านการชลประทานที่สำคัญไว้มากมาย จนได้รับการยกย่องว่าเป็น "บิดาแห่งชลกร"