แม่น้ำโขงที่หนองคายเริ่มลดลง กรมชลฯ เร่งระบายน้ำท่วมขัง พร้อมเฝ้าระวังที่นครพนม

460288233 927172852790653 3276347862526657407 n

460464555 927174989457106 8648386183181939338 n

 

460488831 927174812790457 8652434506229229399 n

460524330 927174796123792 323272301739996690 n

 

        อัพเดทสถานการณ์แม่น้ำโขงภาคอีสาน เริ่มที่ จ.หนองคาย ระดับน้ำเริ่มลดลงแล้ว กรมชลประทาน ได้ระดมเครื่องสูบน้ำรวม 59 เครื่อง เร่งระบายน้ำท่วมขังออกจากในพื้นที่ชุมชน รวมถึงเร่งระบายน้ำตามลำน้ำสาขาต่าง ๆ ในพื้นที่ จ.หนองคาย ออกสู่แม่น้ำโขง เพื่อลดผลกระทบประชาชนจนกว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนระดับน้ำโขงที่ไหลผ่านจังหวัดหนองคาย ที่สถานีวัดน้ำ Kh.1 อ.เมืองหนองคาย ล่าสุดวันนี้ (19 ก.ย. 67) เวลา 13.00 น. ระดับน้ำอยู่ที่ 11.21 เมตร ต่ำกว่าตลิ่งแล้ว 39 เซนติเมตร
 
ขณะที่ จ.บึงกาฬ ระดับน้ำโขงลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยที่สถานีวัดน้ำ Kh.100 อ.เมืองบึงกาฬ วัดได้ 12.89 ม. ซึ่งต่ำกว่าตลิ่ง 1.11 เมตร ส่วนพื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมขังอยู่ บริเวณ อ.ปากคาด กรมชลประทานได้เร่งสูบน้ำที่ประตูระบายน้ำห้วยคาดลงสู่แม่น้ำโขง 4 เครื่อง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนพี่น้องประชาชน ซึ่งสามารถระบายน้ำได้ประมาณวันละ 1.03 ล้านลูกบาศก์เมตร
 
ขณะที่ จ.นครพนม ได้รับผลกระทบจากแม่น้ำโขงแล้ว ไม่เพียงกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำ แต่ยังส่งผลกระทบต่อลำน้ำอูนและลำน้ำสงครามด้วย ทำให้น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตร ปัจจุบันได้ทำการเปิดบานระบายน้ำที่ ปตร.น้ำอูนแล้ว แต่การระบายน้ำยังไม่สามารถทำได้ดีนัก เนื่องจากระดับน้ำโขงยังคงสูงอยู่
 
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถานการณ์น้ำจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำอย่างใกล้ชิด เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าจะมีพายุดีเปรสชั่นพัดผ่านเข้ามาอีกในช่วง 1-2 วันนี้ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมาก โดยเริ่มจากทางภาคอีสานตอนบนและตอนกลาง (หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร มุกดาหาร เลย อุดรธานี หนองบัวลำภู ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด) จึงขอให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคอีสาน ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำจากหน่วยงานราชการในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือจากสถานการณ์ดังกล่าวต่อไป