ฝนตกน้อยผลกระทบจากเอลนีโญ ทำน้ำในอ่างฯลดลง ขอความร่วมมือเกษตรกรงดทำนาปีต่อเนื่อง ลดเสี่ยงขาดน้ำ

365736436 686730096834931 1200093334135318381 n

366802770 686730106834930 2272099367370156106 n

 

         กรมชลประทาน ขอความร่วมมือเกษตรกรงดทำนาปีต่อเนื่อง ลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหาย ตามมติคณะรัฐมนตรี พร้อมจัดทำแผนปฏิบัติการภายใต้มาตรการดังกล่าวเพื่อรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
 
ดร.ธเนศ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา เปิดเผยว่า จากปรากฎการณ์เอลนีโญในปัจจุบัน ส่งผลให้มีปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ ส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆลดลง กระทบต่อปริมาณน้ำในภาพรวมโดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา นั้น
กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยกำหนดแผนจัดสรรน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 จนถึง 31 ตุลาคม 2566 จำนวนรวมทั้งสิ้น 5,500 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมวางแผนการเพาะปลูกข้าวนาปี 8.05 ล้านไร่ จากข้อมูล ณ วันที่ 4 สิงหาคม 2566 สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำใช้การรวมกันทั้งสิ้น 2,974 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก มีการจัดสรรน้ำไปแล้วรวม 4,525 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่เพาะปลูกไปแล้วประมาณ 7.15 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 0.30 ล้านไร่
ทั้งนี้ จากการติดตามข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ปริมาณฝนสะสมปี 2566 ตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 2 สิงหาคม 2566 ภาคเหนือมีปริมาณฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 31 และภาคกลางมีปริมาณฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 41 ประกอบกับปรากฏการณ์เอนโซที่อยู่ในสภาวะเอลนีโญกำลังอ่อน มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม ถึง ธันวาคม 2566 ต่อเนื่องไปจนถึงช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึง เมษายน 2567 จะส่งผลให้เมื่อสิ้นสุดฤดูฝนปีนี้ 4 เขื่อนหลัก จะมีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน ประมาณ 5,000 ถึง 7,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่น้อยมาก โดยปริมาณน้ำใช้การจำนวนดังกล่าวจะเพียงพอเฉพาะการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ดังนั้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย กรมชลประทาน จึงประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือเกษตรกรที่ได้ทำการเพาะปลูกข้าวนาปีรอบแรกและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ งดเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นไปตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 66 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติกำหนดและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการภายใต้มาตรการดังกล่าว เพื่อรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด