กรมชลประทานพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำหลากต่อเนื่อง

364160716 679988217509119 8527549000653880723 n

364171255 679990447508896 6332155430833975965 n

364269296 679990460842228 8201866400629803175 n

364621122 679990427508898 6765264527666635790 n

 
 
 
 

         นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา
เรื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย และคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน ฉบับที่ 2 (207/2566) มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค. - 3 ส.ค. 2566) พบว่าประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย นั้น
 
กรมชลประทาน ได้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจส่งผลกระทบทั้งในเขตชลประทาน และนอกเขตชลประทาน โดยจัดเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ในพื้นที่เสี่ยง
หากมีกรณีฝนตกหนัก หรือลมกระโชกแรงจนส่งผลกระทบต่ออาคารชลประทาน และทรัพย์สินของทางราชการให้สามารถเข้าไปดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว ตรวจสอบอาคารชลประทานให้มีสภาพพร้อมใช้งาน และบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ปรับการระบายน้ำให้เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ พร้อมกับจัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ รถแบคโฮ รถขุด รถเทรลเลอร์ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เครื่องผลักดันน้ำในพื้นที่เสี่ยง ให้สามารถนำไปช่วยเหลือได้ทันท่วงที รวมถึงกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ
โดยจังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง มีดังนี้
🚨ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ และตาก
 
🚨ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และอุบลราชธานี
 
🚨ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี กาญจนบุรี ราชบุรี ลพบุรี สระบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และนครปฐม
 
🚨ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
 
🚨ภาคใต้ : จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
 
อย่างไรก็ตามได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ติดตามการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด ควบคู่กับติดตามภาพรวมสถานการณ์น้ำ และบูรณาการกับผู้ว่าราชการจังหวัด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฝ่ายความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแจ้งเตือนประชาชนเพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำ