รองเฉลิมเกียรติฯ นำคณะดูงานโครงการศึกษาระบบป้องกันปลาข้ามลุ่มน้ำ

 

 
image-1
IMAGE-2
 
 
 
 
 
 
รองเฉลิมเกียรติฯ นำคณะดูงานโครงการศึกษาระบบป้องกันปลาข้ามลุ่มน้ำ ภายใต้โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม – อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล
 
วันที่ 11 มีนาคม 2565 นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน พร้อมด้วยนายธนา สุวัฑฒน ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา เจ้าหน้าที่สำนักวิจัยและพัฒนา สำนักบริหารโครงการ และคณะผู้เชี่ยวชาญจากกรมประมง ร่วมประชุมและเยี่ยมชมงานวิจัย โครงการศึกษาระบบป้องกันปลาข้ามลุ่มน้ำบริเวณสถานีสูบน้ำบ้านสบเงา ภายใต้โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม – อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ณ บริเวณอาคารฝ่ายวัชพืช สำนักวิจัยและพัฒนา กรมชลประทานปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
 
สืบเนื่องจากกรมชลประทาน ได้ดำเนินการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในการก่อสร้างแนวท่อส่งน้ำในเบื้องต้น โดยพบว่า มีแนวโน้มที่สัตว์น้ำท้องถิ่นในลำน้ำได้รับผลกระทบและอาจเข้ามายังสถานีสูบน้ำและติดมากับการผันน้ำมายังเขื่อนภูมิพล ลงสู่ลำน้ำปิงและแม่น้ำเจ้าพระยาทำให้เกิดปลาข้ามสายพันธุ์ หรือแพร่ขยายพันธุ์ข้ามลุ่มน้ำ สำนักวิจัยและพัฒนา กรมชลประทาน จึงได้ดำเนินการศึกษาระบบป้องกันปลาข้ามลุ่มน้ำบริเวณสถานีสูบน้ำบ้านสบเงา ภายใต้โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม – อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมของปลาต่ออุปกรณ์ป้องกันปลาในแบบจำลองทางกายภาพแม่น้ำยวม บริเวณสถานีสูบน้ำสบเงา โดยจะใช้เป็นแนวทางในการสร้างอุปกรณ์ป้องกันปลา และนำไปขยายผลเพื่อต่อยอดใช้งานจริงในอนาคต
 
ทั้งนี้ จากการศึกษาทดลองโดยใช้อุปกรณ์ป้องกันปลา (Multi-Purpose Fish Fence : MUFF) เพื่อบริหารจัดการป้องกันปลาข้ามลุ่มน้ำ อันประกอบด้วย คลื่นเสียง (Sound Fence) คลื่นแสง (Light Fence) และ ม่านฟองอากาศ (Air bubbles Fence) โดยใช้ปลาตัวแทน 3 ชนิด ได้แก่ ปลาตะเพียน ปลากด และปลาดุก ผลการศึกษาในเบื้องต้น และจะได้ดำเนินการศึกษาในกรณีต่าง ๆ ต่อไปเพื่อให้มีความคืบหน้าเป็นไปตามเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ของกรมชลประทาน ตลอดจนนโยบายของนายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ ที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อประโยชน์สูงสุดของโครงการแก่ประชาชน
นอกจากนี้ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ และคณะ ยังได้เดินทางไปติดตามการดำเนินการของสำนักวิจัยและพัฒนา บริเวณอาคารปฏิบัติการทางชลศาสตร์ พร้อมแบบจำลองชลศาสตร์การไหลของน้ำ ส่วนทดสอบและวิเคราะห์วัสดุ อาคารฝ่ายทดสอบและวิเคราะห์คอนกรีตและวัสดุ และส่วนวิจัยและพัฒนาด้ายวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม พร้อมให้แนวทางการดำเนินงานแก่เจ้าหน้าที่วิจัยด้านต่าง ๆ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่องานชลประทาน
 
ข่าว รัตนาพร
ภาพ ภิติพัฒน์