วันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2567 เวลา 10.00 น. นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมคณะอนุกรรมการฯ และที่ปรึกษาฯ เดินทางไปติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พื้นที่จังหวัดเชียงราย เป็นวันที่ 2 โดยมีนางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) นายวัชระ เสือดี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน (ด้านบำรุงรักษา) นายนพดล น้อยไพโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 2 นายทวีชัย โค้วตระกูล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงราย นางสาวจันทร์จิรา อักษรณรงค์ ผู้อำนวยการส่วนติดตามและประเมินผล กองประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมติดตามผลการดำเนินงานโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำขุ่นอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
ในการนี้ นายนพดล น้อยไพโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 2 ได้บรรยายสรุปผลการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่สำนักชลประทานที่ 2 ทั้งหมดจำนวน 365 โครงการ แบ่งเป็นโครงการในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จำนวน 340 โครงการ ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 331 โครงการ อยู่ระหว่างก่อสร้าง จำนวน 2 โครงการ และอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อม จำนวน 7 โครงการ และโครงการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 25 โครงการ ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 14 โครงการ อยู่ระหว่างก่อสร้าง จำนวน 1 โครงการ และอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อม จำนวน 10 โครงการ รวมทั้งบรรยายโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในจังหวัดเชียงราย ซึ่งได้ดำเนินการพัฒนาแล้วในเขตลุ่มน้ำโขงเหนือ ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 4 แห่ง อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่เป็นโครงการพระราชดำริ จำนวน 54 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่ถ่ายโอนภารกิจให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่น จำนวน 68 แห่ง รวม 126 แห่ง ความจุเก็บกักรวม 163.47 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 3.10 ของน้ำท่าลุ่มน้ำโขงเหนือในเขตจังหวัดเชียงราย
ต่อมา นายทวีชัย โค้วตระกูล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงราย ได้บรรยายผลการดำเนินงานโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำขุ่นฯ โดยเมื่อปี 2530 ได้มีการจัดตั้งโครงการพัฒนาดอยตุง จังหวัดเชียงราย (คพต.ชร.) ขึ้น มีจุดประสงค์เพื่อการพัฒนาที่สมบูรณ์แบบต่อเนื่องอย่างมีระบบ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงาน โดยกรมชลประทานมีหน้าที่จัดหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภค ให้กับโครงการดังกล่าว และเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2533 ที่ประชุม คพต.ชร. ได้มีมติในที่ประชุมเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินให้ราษฎรบ้านห้วยน้ำขุ่น โดยให้กรมชลประทานจัดหาน้ำให้แก่หมู่บ้านห้วยน้ำขุ่น (พื้นที่จัดสรรใหม่) จำนวน 47 ครัวเรือน
กรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำขุ่นอันเนื่องมาจากพระราชดำริ แล้วเสร็จเมื่อปี 2534 มีลักษณะโครงการเป็นทำนบดิน ความกว้าง 8.00 เมตร ความยาว 42.50 เมตร ความสูง 12.50 เมตร ความจุที่ระดับเก็บกัก 32,000 ลูกบาศก์เมตร พร้อมถังพักน้ำขนาดความจุ 120 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 3 ถัง สามารถเป็นแหล่งน้ำต้นทุนในการผลิตน้ำประปาของราษฎร จำนวน 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านห้วยน้ำขุ่น หมู่ที่ 1 หมู่ที่ 17 และหมู่ที่ 18 ตำบลแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย จำนวน 1,255 ครัวเรือน และส่งน้ำสนับสนุนพื้นที่เกษตรกรรมภาคครัวเรือน จำนวน 100 ไร่
จากนั้น องคมนตรีและคณะ ได้เดินทางต่อไปยัง ฐานปฏิบัติการบ้านปางหนุน กองร้อยทหารม้าที่ 1 อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพื่อเชิญถุงพระราชทานมอบให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน หน่วยความมั่นคง จำนวน 45 ถุง พร้อมกับให้โอวาท เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน
ช่วงเย็น องคมนตรีและคณะ ได้เดินทางไปยังศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชาน้ำมันเมล็ดคามิเลียและน้ำมันพืชอื่น ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพื่อเข้าร่วมงาน 1 ทศวรรษ มหัศจรรย์ 10 ชาติพันธุ์ แม่สาย