องคมนตรีติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พื้นที่จังหวัดชัยนาท และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

463724966 969795675193506 8938693800470066619 n

463776792 969795688526838 7009887218190035630 n

 

463898097 969795588526848 9172197316467191867 n

463781834 969795778526829 1438426594284701984 n

 

         วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2567 เวลา 08.30 น. พลเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง และ พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง และคณะอนุกรรมการฯ โดยมี นางพิชญดา หัศภาค รองเลขาธิการสำนักงานกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) นายพงศธร ศิริอ่อน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านสำรวจและหรือออกแบบ) นายวัชระ ไกรสัย ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 นายเสริมชัย เซียวศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 10 นายสัณฐิต พีรานนท์ ผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับฟังการบรรยายสรุปภาพรวมสถานการณ์น้ำ และการบริหารจัดน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาในพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 12 และสำนักงานชลประทานที่ 10 จากนั้น เดินทางไปบริเวณประตูเรือเพื่อชมการระบายน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา
 
ในช่วงบ่าย องคมนตรี และคณะ เดินทางไปติดตามผลการดำเนินงานโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี นายวงศ์พันธ์ วงศ์สมุทร ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 10 ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ พร้อมบรรยายสรุปผลการดำเนินงานของโครงการ ฯ ณ ห้องประชุมโครงการคลองระบายน้ำหลาบางบาล-บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
 
โดยโครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่กรมชลประทานดำเนินการเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านบริเวณตัวเมือพระนครศรีอยุธยา มีลักษณะแคบ เป็นคอขวด ทำให้สามารถระบายน้ำได้เพียง 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อีกทั้งบริเวณเกาะเมืองอยุธยายังเป็นจุดบรรจบของแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อปริมาณน้ำไหลมารวมกันบริเวณจุดบรรจบส่งผลให้น้ำเอ่อล้นตลิ่งอยู่เป็นประจำ กระทบต่อพื้นที่ตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา มักจะสบปัญหาอุทกภัยซ้ำซาก สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนเป็นอย่างมาก กรมชลประทาน จึงได้ดำเนินโครงการ ฯ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยมีองค์ประกอบโครงการ ดังนี้
 
1. ขุดคลองระบายน้ำสายใหม่ ความยาวประมาณ 22.50 กิโลเมตร ระบายน้ำได้สูงสุด 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที พร้อมก่อสร้างถนนลาดยางบนคันคลองทั้ง 2 ฝั่ง
2. ก่อสร้างประตูระบายน้ำ 2 แห่ง อัตราการระบายน้ำสูงสุด 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
3. ก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามคลองระบายน้ำหลากฯ จำนวน 11 แห่ง
4. ก่อสร้างสถานีสูบน้ำและท่อระบายน้ำ บริเวณจุดตัดของคลองระบายน้ำหลากกับคลองส่งน้ำเดิม จำนวน 37 แห่ง
5. ก่อสร้างกำแพงป้องกันตลิ่งบริเวณท้ายประตูระบายน้ำปลายคลองระบายน้ำหลากฯ ความยาว 4 กิโลเมตร
6. ก่อสร้างคันกั้นน้ำโดยรอบพื้นที่โครงการฯ พร้อมอาคารประกอบ มีความยาวประมาณ 54 กิโลเมตร
 
ปัจจุบันมีผลการดำเนินงานร้อยละ 55.65 ของแผนฯ หากโครงการแล้วเสร็จทั้งหมด จะสามารถบรรเทาปัญหาอุทกภัยบริเวณตัวเมือพระนครศรีอยุธยา และพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ช่วยเพิ่มศักยภาพในการใช้ประโยชน์พื้นที่ด้านเกษตรกรรม ทั้งยังเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคกว่า 15 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ ถนนบนคันคลองยังสามารถใช้เป็นเส้นทางคมนาคมเชื่อมระหว่างอำเภอบางบาลและอำเภอบางไทร ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สามารถสร้างรายได้เสริมให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้อีกด้วย