สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงนำคณะกรรมการรางวัลนานาชาติมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ไปทัศนศึกษาในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

464233668 952025763638695 8022738471789484312 n

464308595 952025886972016 6384464092553908981 n

 

464226568 952025970305341 3027818547021675807 n

464190943 952026043638667 8927417862434210050 n

 

         วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2567 เวลา 11.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงนำคณะกรรมการรางวัลนานาชาติมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ไปทัศนศึกษา ณ ศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมี นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการ กปร. นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทาน นายวิวัธน์ชัย คงลำธาร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านควบคุมการก่อสร้าง) นายก่อพงศ์ เจ้ยแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 15 นายสัณฐิต พีรานนท์ ผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นายพิทักษ์พงษ์ ติ๊บแก้ว ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครศรีธรรมราช รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และคณะ เฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ
 
ในการนี้ ทรงนำคณะฯ เยี่ยมชมการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ที่ตำบลหูล่อง อำเภอปากพนัง เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งขึ้นเมื่อปี 2521 เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบภัยธรรมชาติ ทำการเกษตรไม่ได้ผล กรมชลประทานได้ดําเนินการก่อสร้างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สําคัญ ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำใส ความจุ 80 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีน้ำใช้การได้ 63.80 ล้านลูกบาศก์เมตร ประตูระบายน้ำคลองชะอวด-แพรกเมือง และประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ ความจุเก็บกักในแม่น้ำปากพนังและคลองระบายน้ำชะอวด-แพรกเมือง รวม 87 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีน้ำใช้การได้ 21 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งน้ำเข้าพื้นที่ชลประทานจำนวน 556,600 ไร่ เป็นนาข้าว 153,164 ไร่ สำหรับการบริหารจัดการน้ำของโครงพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดําริ โดยช่วงต้นฤดูฝน น้ำฝนที่ผ่านพรุควนเคร็งจะมีสภาพเป็นกรดไม่เหมาะสมต่อการเกษตรกรรม กรมชลประทานจะระบายน้ำส่วนนี้ออกสู่ทะเล โดยผ่านทางประตูระบายน้ำคลองชะอวด-แพรกเมือง และเมื่อปริมาณฝนตกมากขึ้น จนเกิดน้ำหลาก กรมชลประทานจะระบายน้ำส่วนเกินนี้ผ่านประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ โดยจะมีการประชุมคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) และปรับสภาพน้ำที่ผ่านพรุควนเคร็งก่อนทุกครั้ง ส่วนในช่วงฤดูแล้ง กรมชลประทานจะปิดประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ ประตูระบายน้ำคลองชะอวด–แพรกเมือง และประตูระบายน้ำคลองชายทะเล 5 แห่ง เพื่อเก็บกักน้ำจืดสําหรับการเกษตร ทั้งนี้ สําหรับการบริหารจัดการน้ำในเขตเทศบาลเมืองปากพนัง ที่มีปัญหาน้ำทะเลหนุนสูงและน้ำเสียจากชุมชนไม่หมุนเวียน ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีนั้น กรมชลประทานใช้ในการเปิด-ปิดประตูคลองลัด ตามจังหวะน้ำทะเลขึ้น-ลง เพื่อช่วยลดระดับน้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองปากพนัง และผลักดันน้ำเสียผ่านทางคลองลัด
 
ต่อมาในปี 2551 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปพื้นที่โครงการฯ เป็นครั้งแรก ทรงมีพระราชดำริในด้านต่าง ๆ เพิ่มเติมเรื่อยมา เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ผลสำเร็จเด่นชัด คือ การปรับปรุงดินเปรี้ยวตามทฤษฎีแกล้งดิน ทำให้ปลูกข้าวได้ ทำเกษตรได้
 
ปัจจุบัน โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ เป็นศูนย์สาขาของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส มีพื้นที่ดำเนินงานกว่า 2 ล้าน 2 แสน 9 หมื่นไร่ ครอบคลุม 3 จังหวัด 13 อำเภอ ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช 10 อำเภอ จังหวัดพัทลุง 2 อำเภอ และจังหวัดสงขลา 1 อำเภอ มีศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ เป็นหลัก ช่วยสนับสนุนให้หน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินงานสอดคล้องและเชื่อมโยงกัน
 
จากนั้น ประทับรถรางพระที่นั่ง ทรงรับฟังผลการดำเนินงานภายในโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ ได้แก่ แปลงเกษตรผสมผสาน แปลงกล้วย แปลงส้มโอทับทิมสยาม ศูนย์ผลิตและส่งเสริมพันธุ์สัตว์พระราชทานปากพนัง แปลงมะพร้าว พันธุ์ข้าวพื้นเมือง ปศุสัตว์ แปลงจาก โรงแปรรูปถ่านจากผลไม้ แปลงทดลองการใช้น้ำ แปลงแห้วกระจูด และแปลงสาธิตเกษตรทฤษฎีใหม่ “พอ...เพียงนี้ก็พอ” ใช้หลักการจัดการประโยชน์ที่ดินและน้ำพึ่งพาตนเองในพื้นที่ 3 ไร่ 2 งาน มีสระเก็บน้ำ ปลูกพืชและเลี้ยงปลา ปลูกผักหมุนเวียนตามภูมิสังคม เลี้ยงไก่อารมณ์ดี ผลิตอาหารสัตว์จากวัตถุดิบในท้องถิ่น
โอกาสนี้ ทอดพระเนตรการสาธิตเลี้ยงปลาดุลำพัน และไก่พันธุ์เมือง ซึ่งปลาดุกลำพันเป็นสัตว์น้ำหายากในเขตป่าพรุของไทย เป็นปลาน้ำจืด เนื้อปลามีรสชาติหวาน อร่อย ดำรงชีวิตโดยกินสิ่งมีชีวิต ซากพืชและซากสัตว์เป็นอาหาร สำหรับไก่พื้นเมืองอารมณ์ดี นครศรีธรรมราช พันธุ์ศรีวิชัย เป็นไก่ที่ได้รับการพัฒนาและปรับปรุงสายพันธุ์มาจากไก่คอล่อนและไก่พื้นเมือง โดยศูนย์วิจัยและบํารุงพันธุ์สัตว์นครศรีธรรมราช โดยมีวัตถุประสงค์ให้ได้ไก่ที่โตเร็ว หน้าอกแน่น กลม และทน ร้อนได้ดี ไก่คอล่อนศรีวิชัยนั้นมี 2 สี ได้แก่ สีดำ และสีขาว
 
ต่อจากนั้น ทรงพระดำเนินไปยังอาคารแปรรูปผลิตภัณฑ์ ทอดพระเนตรการสาธิตการทำขนมลา โดยขนมลาเป็น 1 ใน 5 ขนมที่ใช้ในวันสารท งานประเพณีสารทเดือนสิบ (แรม 15 ค่ำเดือน 10) มีความหมายแทนแพรพรรณหรือเครื่องนุ่งห่ม แต่ในปัจจุบันสามารถพบเจอและหาทานได้ทุกวัน โดยแหล่งที่มีชื่อเสียงที่สุดมีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยเท่านั้นคือ ขนมลาบ้านหอยราก จังหวัดนครศรีธรรมราช และทอดพระเนตรการสาธิตทำน้ำตาลต้นจาก ซึ่งจะกรีดที่ดอกของต้น เพื่อเก็บน้ำหวาน หรือ “น้ำจาก” เมื่อเก็บเสร็จจะนำมาต้มทันที จนกลายเป็นน้ำเชื่อม แล้วเทลงพิมพ์รอให้เย็นและแข็งตัว จะกลายเป็นน้ำตาลก้อน ทอดพระเนตรการแปรรูปน้ำตาลก้อนเป็นน้ำตาลทรายจากขนมและผลิตผลจากพันธุ์ข้าวพื้นเมือง (เพิงข้าวปากพนัง)
 
ก่อนเสด็จฯ กลับ ทรงนำคณะฯ เยี่ยมชมประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ เป็นส่วนหนึ่งในโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานแนวพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาก่อสร้างขึ้น เพื่อป้องกันน้ำทะเลไม่ให้ไหลย้อนเข้าไปในแม่น้ำปากพนัง และระบายน้ำหลากสู่ทะเลในช่วงฤดูฝน รวมถึงมีระบบกระจายน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง กว่า 4 แสน 8 หมื่นไร่ นอกจากนี้ยังช่วยบรรเทาอุทกภัยในหลายอำเภอของจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แก่ อำเภอปากพนัง อำเภอหัวไทร อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอชะอวด และบางส่วนของอำเภอเมือง เริ่มใช้งานเมื่อปี 2542 มีช่องระบายน้ำกว้าง 20 เมตร สูง 9 เมตร จำนวน 10 ช่อง มีบันไดปลา และทางปลาลอด รวมถึงประตูเรือสัญจร ปัจจุบัน “ประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ” นามพระราชทาน ที่เป็นมงคลยิ่ง หมายถึง “ประตูระบายน้ำที่ให้ประสบความสำเร็จในการแยกน้ำ” สามารถแยกน้ำจืด น้ำเค็ม ได้สำเร็จ มีการบริหารจัดการอย่างสมดุล เอื้ออำนวยให้การใช้ทรัพยากรธรรมชาติในลุ่มน้ำปากพนัง เกิดประโยชน์สูงสุดและยั่งยืน