สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปลูกข้าว ณ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก

361913535 673789451462329 5319745238518844593 n

361606065 673787371462537 9176550448005174823 n

360145483 673789318129009 4377337328958247839 n

359805630 673789041462370 7275342029239445423 n

          วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 เวลา 13.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปลูกข้าว ณ แปลงสาธิตการเกษตรโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก โดยมี นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา นายปวัตร์ นวะมะรัตน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน นายทินกร เหลือล้น ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 และคณะ เฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ
 
ทั้งนี้ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ได้กราบบังคมทูลรายงานถึงโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำ ในพื้นที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และพื้นที่โดยรอบ ซึ่งพื้นที่บ้านกันเกรา หมู่ที่ 5 ตำบลศรีกระอาง อำเภอบ้านนา และโครงการทหารพันธุ์ดี ในพื้นที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร กรมชลประทานจึงได้เข้าดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในปี 2566 ดังนี้
 
1. ก่อสร้างโครงการระบบส่งน้ำระยะทาง 3.6 กิโลเมตร
 
2. ขุดลอกสระเก็บน้ำภายในพื้นที่กองพันทหารราบโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จำนวน 8 แห่ง
 
3. ขุดลอกคลองระบายน้ำบริเวณด้านหลัง พัน ร.โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า พร้อมอาคาร 2 แห่ง
 
ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่บ้านกันเกรา และสนับสนุนการใช้น้ำในพื้นที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เป็นการเพิ่มความมั่นคงด้านแหล่งน้ำได้อย่างยั่งยืน
อนึ่ง เมล็ดพันธุ์ข้าว ที่นำปลูกโดยวิธีหว่านน้ำตม คือ ข้าวพันธุ์ กข 87 ซึ่งวิธีดังกล่าวเป็นวิธีการปลูกที่นิยม ในเขตนาชลประทาน เนื่องจากประหยัดจำนวนเมล็ดพันธุ์ ซึ่งลักษณะข้าวพันธุ์ กข 87 เป็นพืชล้มลุก วงศ์หญ้า เป็นข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง มีอายุเก็บเกี่ยว 114 วัน คอรวงยาว รวงค่อนข้างแน่น ปริมาณอมิโลสต่ำ 16.87 เปอร์เซ็นต์ ข้าวสุกนุ่มและค่อนข้างเหนียวให้ผลผลิตเฉลี่ย 734 กิโลกรัมต่อไร่ และมีศักยภาพการให้ผลผลิตสูงสุด ถึง 1,053 กิโลกรัมต่อไร่ เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่นาชลประทานภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง