กรมชลประทาน โดย สำนักบริหารโครงการ นำทีมคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่ติดตามผล 3 โครงการเร่งด่วน ปตร.ลำน้ำชี “บ้านท่าสองคอน-บ้านโนนเขวา-บ้านท่าสวรรค์” พร้อมเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน
เช้าวันนี้ (14 พ.ย.67) ที่บริเวณหัวงานโครงการประตูระบายน้ำ (ปตร.) บ้านโนนเขวา อำเภอแวงน้อย จังหวัดขอนแก่น นายเกื้อศักดิ์ ทาทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านวางแผน) พร้อมด้วย นายมหิทธิ์ วงศ์ษา ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม นำคณะสื่อมวลชนสัญจรลงพื้นที่ไปติดตามความคืบหน้าโครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม อาคารบังคับน้ำในลำน้ำชี 3 โครงการ ประกอบด้วย โครงการประตูระบายน้ำบ้านท่าสองคอน จังหวัดมหาสารคาม โครงการประตูระบายน้ำบ้านโนนเขวาและโครงการประตูระบายน้ำบ้านท่าสวรรค์ จังหวัดขอนแก่น ก่อนจะเดินทางต่อไปยังสถานีสูบน้ำบ้านหนองผือ ประตูระบายน้ำบึงละหานนา และสถานีสูบน้ำบึงละหานนา ตามลำดับ เพื่อให้สื่อมวลชนได้รับทราบสภาพปัญหาและเป็นสื่อกลางในการนำเสนอข้อมูลการพัฒนาแหล่งน้ำของกรมชลประทาน เผยแพร่ต่อสาธารณชน
สำหรับโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำในลำน้ำชีทั้ง 3 แห่ง หากดำเนินการได้จนแล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักน้ำได้รวมกันประมาณ 57.69 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น ปตร.บ้านท่าสองคอน กักเก็บน้ำได้ 32.46 ล้าน ลบ.ม. ปตร.บ้านโนนเขวา กักเก็บน้ำได้ 6.04 ล้าน ลบ.ม. และปตร.บ้านท่าสวรรค์ กักเก็บน้ำได้ 19.19 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการน้ำทั้ง 2 ฝั่งของลำน้ำชี มีประสิทธิภาพเพิ่มมากยิ่งขึ้น สามารถส่งน้ำให้เกษตรกรได้มีน้ำใช้อุปโภคบริโภค การเกษตร และอื่นๆ ได้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี อีกทั้งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น
จากนั้นในช่วงบ่ายคณะฯ เดินทางต่อไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลท่านางแนว อำเภอแวงน้อย จังหวัดขอนแก่น เพื่อเข้าร่วมการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการประตูระบายน้ำบ้านโนนเขวา จังหวัดขอนแก่น ซึ่งจัดขึ้นเพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาพร้อมรับฟังข้อคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่และนำข้อเสนอแนะไปปรับปรุงรายงานการศึกษาฯ ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยมี นายสุริยงค์ พลน้ำเที่ยง ปลัดอำเภอแวงน้อย รักษาการในตำแหน่งนายอำเภอแวงน้อย ให้เกียรติเป็นประธาน
สำหรับโครงการประตูระบายน้ำบ้านโนนเขวา จังหวัดขอนแก่น คือ 1 ใน 3 ของโครงการเร่งด่วน ภายใต้โครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม อาคารบังคับน้ำในลำน้ำชี เป็นการก่อสร้างประตูระบายน้ำในช่องลัดของแม่น้ำชี หากก่อสร้างแล้วเสร็จ จะเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ประมาณ 21,267 ไร่ เมื่อรวมกับพื้นที่ชลประทานของสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเดิมตามลำน้ำชีอีก 5 สถานี จำนวน 16,547 ไร่ จะทำให้มีพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นกว่า 37,000 ไร่ ครอบคลุมอำเภอแวงน้อย จังหวัดขอนแก่น อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ และอำเภอแก้งสนามนาง จังหวัดนครราชสีมา