ช่วงเช้าที่ผ่านมา(15 มี.ค. 66) กรมชลประทาน ได้จัดเวทีเสวนา 'ได้' หรือ 'เสีย' เปิดทุกมุมมอง ตอบทุกประเด็น โครงการผันน้ำยวม พร้อมรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน ทั้งนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขา ตัวแทนจากภาคเกษตรกร พร้อมถ่ายทอดสดผ่านช่องทางออนไลน์ให้ประชาชนสามารถร่วมรับชมและเสนอความคิดเห็นได้อย่างทั่วถึง พร้อมตอบคำถามและข้อห่วงใยจากผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ ณ หอประชุมชูชาติ กำภู สถาบันพัฒนาการชลประทาน กรมชลประทาน อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
สำหรับการเปิดเวทีเสวนาฯ ในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีกลางในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล (โครงการผันน้ำยวม) จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และตัวแทนภาคเกษตรกรมาร่วมให้ความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับโครงการฯ ได้แก่ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต , คุณพรชัย กันสิทธิ์ ผู้อำนวยการกลุ่มพื้นที่เฉพาะและโครงการสำคัญ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ, รศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, นายศรชัย สิบหย่อม ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำ อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร และ รศ.ดร.เดช วัฒนชัยยิ่งเจริญ ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยและพัฒนาบูรณาการเกษตรและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ดำเนินรายการโดยคุณดาริน กำเนิดรัตน์
ทั้งนี้ โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล(โครงการผันน้ำยวม) เป็นโครงการที่จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มน้ำปิงและลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ตั้งแต่ด้านท้ายเขื่อนภูมิพล เป็นการสร้างความมั่นคงด้านน้ำทุกภาคส่วน ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) สามารถผันน้ำจากแม่น้ำยวมมาเติมอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลได้เฉลี่ยปีละ 1,795.25 ล้านลูกบาศก์เมตร สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมจากผลประโยชน์ด้านการเกษตรได้มากกว่า 17,431 ล้านบาทต่อปี
หากโครงการฯ แล้วเสร็จ จะสามารถสร้างประโยชน์ได้อย่างมากมาย อาทิ เพิ่มพื้นที่การปลูกข้าวในฤดูแล้ง จำนวนกว่า 1.6 ล้านไร่ ช่วยในเรื่องการผลักดันน้ำเค็มในช่วงฤดูแล้ง เพิ่มการผลิตพลังงานไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนภูมิพลเฉลี่ย 417 ล้านหน่วย/ปี สร้างอาชีพการทําประมงในอ่างเก็บน้ำ รวมทั้งด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว นับได้ว่าเป็นโครงการที่ช่วยส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนบริเวณลุ่มน้ำปิงและลุ่มเจ้าพระยา รวมถึงเพิ่มความมั่นคงทางด้านน้ำ พัฒนาเศรษฐกิจ และส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ได้อีกด้วย
ข่าว : ศรีสุดา
ภาพ : อนันต์/วราภรณ์