นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาเตือน ฉบับที่ 2 (72/2566) ลงวันที่ 10 มีนาคม 2566 เรื่อง “พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน” ในช่วงวันที่ 12 - 14 มีนาคม 2566 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้ ประกอบกับคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือ ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อน ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง นั้น
กรมชลประทาน ได้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์โดยกำชับให้เจ้าหน้าที่ประจำอยู่ในพื้นที่เสี่ยงหากมีฝนตกหนัก หรือลมกระโชกแรงจนส่งผลกระทบต่ออาคารชลประทานให้เข้าดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ได้ทันที และตรวจสอบอาคารชลประทาน ให้มีสภาพพร้อมใช้งาน บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมและปรับการระบายน้ำให้เหมาะสม นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้โครงการชลประทานทุกแห่ง ติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด ควบคู่กับการกำจัดวัชพืชไม่ให้กีดขวางทางน้ำ คอยติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ประชาชนรับมือสถานการณ์น้ำ อีกทั้งยังได้จัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือไว้ในพื้นที่เสี่ยงภัย ให้สามารถออกปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลา หากต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร. 1460 สายด่วนกรมชลประทาน
ข่าว : ปาลิดา
ภาพ : สำนักงานชลประทานที่ 11