กรมชลประทานเดินหน้าศึกษาปรับปรุงโครงการโพธิ์พระยา มุ่งพัฒนาระบบชลประทานอัจฉริยะ เสริมคุณภาพชีวิตประชาชนจังหวัดสุพรรณบุรี

490097973 1073464888161448 2633471543444257837 n

490028365 1073464891494781 1601738654367507001 n

 

489550013 1073465308161406 7992862157737307463 n

490172193 1073464991494771 5444795137674221367 n

 

          วันที่ 9 เมษายน 2568 กรมชลประทาน จัดประชุมปฐมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมและปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโพธิ์พระยา ณ ห้องประชุมโรงแรมวาสิฏฐี โฮเทล ซิตี้ จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมี นายโอฬาร ทองศรี ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสุพรรณบุรี พร้อมด้วยคณะที่ปรึกษาโครงการ ผู้แทนจากหน่วยงานราชการส่วนกลางและท้องถิ่น กลุ่มผู้ใช้น้ำ และภาคประชาชนเข้าร่วมรับฟังข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยได้รับเกียรติจาก นางอภิญญา เอี่ยมอำภา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม
 
นายโอฬาร ทองศรี ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสุพรรณบุรี เปิดเผยว่า โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโพธิ์พระยา เป็นโครงการชลประทานแห่งแรกของลุ่มน้ำท่าจีน ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2475 ซึ่งมีอายุการใช้งานยาวนานกว่า 99 ปี ปัจจุบันมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเกษตรในพื้นที่ชลประทานกว่า 330,000 ไร่ แต่ด้วยระยะเวลาการใช้งานที่ยาวนาน ทำให้ประสิทธิภาพของระบบส่งน้ำ ระบบระบายน้ำ รวมถึงสถานีสูบน้ำและอาคารชลประทานบางส่วนลดลง
 
กรมชลประทานจึงได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมในการปรับปรุงโครงการดังกล่าว โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ทันสมัย และเตรียมนำระบบชลประทานอัจฉริยะ (Smart Irrigation) มาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ โดยใช้เทคโนโลยี IoT ควบคุมและสั่งการระบบน้ำแบบเรียลไทม์ ช่วยลดการสูญเสียน้ำ เพิ่มความแม่นยำในการจัดสรรน้ำให้เหมาะสมกับความต้องการในแต่ละช่วงฤดูกาล แม้ในสภาวะที่มีปริมาณน้ำต้นทุนจำกัด
 
ด้านนางอภิญญา เอี่ยมอำภา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้เป็นเวทีสำคัญในการรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ ซึ่งจะช่วยให้การปรับปรุงโครงการสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในพื้นที่ หากโครงการสามารถดำเนินการได้ตามแผน จะช่วยเพิ่มศักยภาพการส่งน้ำ สนับสนุนการเพาะปลูก แก้ปัญหาภัยแล้งและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งโพธิ์พระยา ซึ่งจะช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างยั่งยืน
 
ทั้งนี้ โครงการปรับปรุงโพธิ์พระยา ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการพัฒนาเชิงรุกที่มุ่งเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง สะท้อนบทบาทของกรมชลประทานในการบริหารจัดการน้ำมาอย่างต่อเนื่องยาวนานเกือบหนึ่งศตวรรษ พร้อมก้าวสู่การพัฒนายุคใหม่ด้วยการบูรณาการเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อความมั่นคงด้านน้ำในระยะยาวอย่างแท้จริง