ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (3 ก.พ. 68) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การรวมกันประมาณ 32,041 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 11,478 ล้าน ลบ.ม. ด้านผลการจัดสรรน้ำ มีการใช้น้ำทั้งประเทศไปแล้วกว่า 14,452 ล้าน ลบ.ม. (50% จากแผนฯ) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 4,806 ล้าน ลบ.ม. (53% จากแผนฯ) การบริหารจัดการยังคงเป็นไปตามแผนฯที่วางไว้ สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานในพื้นที่วางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างรัดกุม เฉพาะการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ เท่านั้น ได้แก่ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา
ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร และอุตสาหกรรม พร้อมสำรองน้ำบางส่วนไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปี 2568 หากเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง โดยจะติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดและบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมขอความร่วมมือไปยังทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด ช่วยลดความเสี่ยงปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ตามนโยบายของรัฐบาล และ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์