กรมชลฯ เสริมทัพเครื่องสูบน้ำเร่งระบายน้ำท่วมใต้ ลงอ่าวไทย
ฮิต: 63
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำภาคใต้ว่า ปัจจุบัน (30 พ.ย. 67) ฝนที่ตกหนักภาคใต้ ส่งผลให้มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำและน้ำล้นตลิ่งในหลายพื้นที่ กรมชลประทาน ขนย้ายเครื่องจักร เครื่องมือ จากภาคอื่นๆ ที่ไม่ประสบอุทกภัยแล้ว นำมาช่วยเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัยภาคใต้ต่อเนื่อง
จ.นครศรีธรรมราช มีน้ำล้นตลิ่งในคลองท่าดี คลองเสาธง และมีพื้นที่น้ำท่วมขัง 8 อำเภอ ได้แก่ เมืองนครศรีธรรมราช ร่อนพิบูลย์ ปากพนัง เชียรใหญ่ ชะอวด หัวไทร เฉลิมพระเกียรติ และ พระพรหม โดยในช่วงที่ไม่มีน้ำทะเลหนุนสูง จะใช้เครื่องผลักดันน้ำเร่งระบายน้ำผ่านคลองระบายน้ำและประตูระบายน้ำออกสู่ทะเล ส่วนในช่วงน้ำทะเลหนุนสูง จะใช้เครื่องสูบน้ำที่ได้ติดตั้งไว้ก่อนหน้านี้ เร่งระบายน้ำลงสู่ทะเล
จ.สงขลา มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 10 อำเภอ ได้แก่ ระโนด กระแสสินธุ์ สทิงพระ สิงหนคร จะนะ หาดใหญ่ นาทวี คลองหอยโข่ง สะเดา และ รัตภูมิ กรมชลประทานติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เร่งระบายน้ำลงสู่ทะเลสาบสงขลาและอ่าวไทย ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังได้มีการซักซ้อมและทบทวนการบริหารจัดการน้ำที่จะไหลผ่านตัวเมืองหาดใหญ่ โดยใช้คลองระบายน้ำ ร.1 ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
จ.พัทลุง มีน้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ เมืองพัทลุง กงหรา เขาชัยสน ควนขนุน และ บางแก้ว ได้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง
จ.สตูล มีน้ำท่วมในเขต เมืองสตูล กรมชลประทานได้เตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ และเจ้าหน้าที่พร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันที
จ.ตรัง ฝนที่ตกหนักทำให้มีน้ำท่วมในพื้นที่ อ.ปะเหลียน และ อ.นาโยง ปัจจุบันระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งแล้ว
ทางด้านสถานการณ์น้ำ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
จ.ปัตตานี มีน้ำท่วมขัง 9 อำเภอ ได้แก่ สายบุรี ทุ่งยางแดง ไม้แก่น แม่ลาน มายอ หนองจิก เมืองปัตตานี โคกโพธิ์ และ กะพ้อ มีการใช้เครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำ เร่งระบายน้ำที่ท่วมขังลงสู่อ่าวไทย ทำให้ระดับในแม่น้ำปัตตานีเริ่มทยอยลดลง ทั้งนี้ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 67 ที่ผ่านมา มีการใช้เขื่อนบางลาง ช่วยชะลอน้ำในแม่น้ำปัตตานีตอนบน และเตรียมทยอยปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันได ในคืนนี้ (1 ธ.ค. 67)
จ.ยะลา ฝนที่ตกหนักส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำปัตตานี และสายบุรี ล้นตลิ่งเข้าท่วมหลายพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ เมืองยะลา บันนังสตา ยะหา รามัน และกาบัง มีการใช้เครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำ เร่งระบายน้ำที่ท่วมขังลงสู่อ่าวไทย
จ.นราธิวาส เกิดอุทกภัย 10 อำเภอ ได้แก่ เมืองนราธิวาส
ยี่งอ แว้ง บาเจาะ รือเสาะ ศรีสาคร ระแงะ เจาะไอร้อง สุไหงปาดี และ สุคิริน ระดับน้ำในคลองตันหยงมัส และแม่น้ำโก-ลก มีแนวโน้มลดลง
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ยังคงเฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศ รวมถึงสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด จนกว่าจะหมดฤดูฝนของภาคใต้ พร้อมกำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่แจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถเตรียมพร้อมรับมือได้อย่างทันท่วงที ตามนโยบายของ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์