กรมชลฯ ปูพรมเตรียมพร้อมรับมือฝนเมืองกาฬสินธุ์ ย้ำเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงอย่างใกล้ชิด

444135951 851963280311611 2404452034003429651 n

443839484 851964770311462 1429342123989371798 n

 

443839484 851964770311462 1429342123989371798 n

443733014 851964736978132 8099820228850115528 n

 

        กรมชลประทาน ขานรับข้อสั่งการ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งสำรวจพื้นที่เสี่ยงจังหวัดกาฬสินธุ์ เตรียมพร้อมรับมือฝนปี 2567 กำชับโครงการชลประทานในพื้นที่ ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำในเขื่อนอย่างใกล้ชิด
 
นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศเข้าสู่ฤดูฝนปี 2567 อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 67 ที่ผ่านมา คาดว่าปริมาณฝนโดยรวมจะใกล้เคียงกับปีที่แล้ว และอาจมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 1-2 ลูก ในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคอีสาน โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเกิดอุทกภัยบ่อยครั้ง จึงสั่งการให้โครงการชลประทานทุกแห่งเตรียมพร้อมรับมือฝนและสถานการณ์น้ำหลากที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยให้ปฏิบัติตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2567 อย่างเคร่งครัด เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ ไว้ประจำจุดพื้นที่เสี่ยงเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถใช้งานได้ทันต่อเหตุการณ์
 
ด้าน นายไพฑูรย์ ศรีมุก ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 เปิดเผยว่า วันนี้ (23 พ.ค. 67) ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ในสังกัด นำทีมลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัย โดยเฉพาะจุดเสี่ยงภัยลำน้ำยังและบริเวณเขื่อนลำปาว ซึ่งปัจจุบันเขื่อนลำปาวมีปริมาณน้ำเก็บกักประมาณ 698 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) หรือร้อยละ 35 ของความจุอ่างฯ ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 1,282 ล้าน ลบ.ม. ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลางอีก 17 แห่ง ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวม 23 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 27 ของความจุอ่างฯ ยังสามารถรับน้ำได้รวมกันประมาณ 65 ล้าน ลบ.ม.
 
นอกจากนี้ ทางสำนักงานชลประทานที่ 6 ยังได้ดำเนินการปรับปรุงเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ (Rule Curve) ของเขื่อนลำปาว เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในอ่างฯ สอดคล้องกับสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ และสามารถจัดการน้ำได้อย่างเหมาะสม รวมไปถึงการตรวจสอบสภาพอาคารชลประทานและพนังกั้นน้ำให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน พร้อมกันนี้ ได้ประสานงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการร่วมกันปฏิบัติภารกิจลดความเสี่ยงการเกิดอุทกภัย เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด ขณะนี้ได้เตรียมพร้อมทั้งเครื่องจักร เครื่องมือ และกำลังเจ้าหน้าที่ ให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที