กรมชลฯ เฝ้าระวังน้ำหลาก 25-30 ก.ย. นี้

382135404 708852461289361 3782428640740465353 n

381969997 708852527956021 1575265287727622189 n

 

          กรมชลประทาน สั่งโครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยง เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ เข้าประจำยังจุดเสี่ยง รวมถึงตรวจสอบสภาพอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งาน หลัง กอนช. ประกาศเตือนในช่วงระหว่างวันที่ 25 - 30 กันยายน 2566 จะมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคกลาง ภาคตะวันออก โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากในภาคใต้ พร้อมทั้งบริหารจัดการน้ำเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในอนาคตด้วย
 
กรมชลประทาน เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ติดตามสภาพอากาศ พบว่าจะเกิดฝนตกหนักบางแห่งในภาคกลาง ภาคตะวันออก และฝนตกหนักถึงหนักมากในภาคใต้ ในช่วงวันที่ 25 - 30 กันยายน 2566 นั้น
มีพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม
 
🚨ภาคตะวันออก จังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด
🚨ภาคใต้ จังหวัดชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี สตูล ตรัง พัทลุง สงขลา และนครศรีธรรมราช
พื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่ง และท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ
🚨 บริเวณริมแม่น้ำแควน้อย จังหวัดพิษณุโลก
🚨แม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา
🚨ลำน้ำก่ำ จังหวัดนครพนม
🚨ลำเซบาย จังหวัดยโสธร
🚨แม่น้ำลำปาว จังหวัดอุดรธานี และกาฬสินธุ์
🚨ลำน้ำยัง จังหวัดร้อยเอ็ด
🚨แม่น้ำมูล จังหวัดอุบลราชธานี
🚨แม่น้ำตรัง จังหวัดตรัง
🚨แม่น้ำตาปี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
 
ขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้
 
จึงได้กำชับให้โครงการชลประทานในทุกพื้นที่เสี่ยง พร้อมเฝ้าระวังติดตามสภาพอากาศ และเตรียมรับมือกับสถานการณ์น้ำ โดยให้บุคลากรประจำอยู่ในพื้นที่ พร้อมเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ที่สามารถเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือประชาชนได้ทันที ตามข้อสั่งการของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมทั้งได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำท่าในแหล่งน้ำธรรมชาติ ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละช่วงเวลา ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด อย่างไรก็ตาม หากมีฝนตกลงมาบริเวณพื้นที่เหนืออ่างเก็บน้ำ ย่อมจะส่งผลดีให้มีปริมาณน้ำเก็บกักเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงปริมาณน้ำท่าในแม่น้ำสายหลักต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นด้วย ทำให้มีปริมาณน้ำสำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ และการผลักดันน้ำเค็มเพิ่มมากขึ้น
 
พร้อมกันนี้ กรมชลประทาน ได้ติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด เพื่อใช้ประกอบการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ พร้อมเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำในพื้นที่ให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก