ชป.แจงกรณีโครงการอ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อ จ.นครนายก

 360091915 670563411784933 1875247032664456830 n

 

          กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีสื่อสังคมออนไลน์นำเสนอข้อมูลการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อ จังหวัดนครนายก บนพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ให้หยุดดำเนินโครงการฯ นั้น นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ในฐานะหน่วยงานหลักในด้านการบริหารจัดการน้ำและพัฒนาแหล่งน้ำ ได้ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครนายกและปราจีนบุรี ได้มีน้ำอย่างเพียงพอต่อการดำรงชีวิต ทั้งในด้านการชลประทาน เพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตร การอุตสาหกรรม รวมทั้งบรรเทาปัญหาอุทกภัย ตลอดจนการรักษาระบบนิเวศและแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว จึงได้ดำเนินการศึกษาโครงการพัฒนาลุ่มน้ำนครนายกตอนบน ซึ่งทำการศึกษาแล้วเสร็จในปี 2539 จากผลการศึกษาการพัฒนาลุ่มน้ำได้เสนอแนะให้มีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองท่าด่าน (ก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2548 ต่อมาได้รับพระราชทานนามว่า "เขื่อนขุนด่านปราการชล") และอ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อ ก่อนที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จะได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ ภายใต้ชื่อ "กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่" ในปี 2548 หลังจากนั้น กรมชลประทาน ได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อนำไปเป็นข้อมูลประกอบการศึกษา และปรับปรุงให้มีความสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ของโครงการฯ ให้มีความครบถ้วนและสมบูรณ์ ซึ่งได้ดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จในปี 2563
ปัจจุบัน โครงการอ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อ จังหวัดนครนายก อยู่ระหว่างการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ (คชก.) โดย คชก. มีมติให้กรมชลประทานกลับไปแก้ไขรายงานฯ ก่อนที่จะนำไปให้ คชก. พิจารณาใหม่อีกครั้ง

สำหรับแนวพื้นที่การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อนั้น ไม่ได้มีการก่อสร้างในพื้นที่ใจกลางป่าแต่อย่างใด แต่เป็นเพียงบริเวณพื้นที่รอบข้างซึ่งส่วนใหญ่เป็นป่าดิบแล้งและมีพื้นที่ส่วนน้อยของพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 0.03% ของพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติที่มีอยู่ทั้งหมด 3.8 ล้านไร่ ทั้งนี้ หากสามารถดำเนินการก่อสร้างอ่างฯ ดังกล่าวได้จนแล้วเสร็จ ได้มีการวางแผนฟื้นฟูพื้นที่ป่า ด้วยการปลูกป่าทดแทนมากกว่า 3 เท่าของพื้นที่อ่างฯ มีการปรับปรุงแหล่งน้ำเดิม การปรับปรุงพื้นที่ป่าให้เป็นแหล่งอาหารสัตว์ป่า และฟื้นฟูสภาพป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นอีกด้วย

อนึ่ง กรมชลประทาน ขอยืนยันว่าในการดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำได้มีการดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด โดยยึดหลักผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นที่ตั้ง เพื่อให้โครงการเหล่านั้น เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและทุกภาคส่วน